ชายหนุ่มวัย 20 กลางๆ มาพบฉันเนื่องจากเขาหมกมุ่นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลขมานานหลายปี เห็นตัวเลขแล้วรู้สึกว่าตนอาจอ่านข้าม ไม่ครบ ต้องอ่านซ้ำๆ เขาพยายามอยู่กับมันเพราะคิดว่าอาจเป็นเรื่องปกติของคนรอบคอบ ต่อมาเริ่มลามไปถึงเรื่องความปลอดภัย ออกจากห้องทีไร เขามักไม่มั่นใจว่าล๊อกประตูหรือยัง ต้องกลับไปเช็คซ้ำๆ จนเขาเริ่มรู้สึกว่ามันรบกวนชีวิตมากเกินไปแล้ว
หญิงสาวอีกรายหนึ่ง ทนกับความรู้สึกแย่ของตนมานานหลายปี ที่เมื่อเห็นศาลพระภูมิ จะมีความคิดในทางไม่ดีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมอ เธอต้องพยายามสวดมนต์ขอโทษอยู่ในใจ หนำซ้ำยังกังวลตลอดเวลาว่ามือไม่สะอาด เธอต้องคอยล้างมือซ้ำๆเพื่อความสบายใจของเธอเอง แต่ที่ทำไปก็ช่วยลดความกังวลใจของเธอไม่ได้มาก เธอจึงอยากหาคนช่วยจัดการเรื่องนี้
หญิงสาววัยกลางคนคนหนึ่ง เธอรู้สึกรังเกียจตัวเอง ที่มีความคิดไม่ดี เพราะเธอมักจะเผลอมองเป้ากางเกงผู้ชายอยู่ตลอดเวลา เธอรู้ว่ามันไม่ดี แต่ห้ามไม่ได้ เธอต้องขอโทษอยู่ในใจซ้ำๆ จนเริ่มรู้สึกทรมาน
คุณเคยบ้างมั้ย ที่คิดอะไรก็ไม่รู้ ไร้สาระแล้วมันก็ไม่สามารถหยุดความคิดได้ เล่าให้ใครฟังก็หาว่าเป็นอะไรเนี่ย ย้ำคิดย้ำทำเสียจริง แหมเราก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนี้นะแต่มันห้ามคิดไม่ได้นี่ งั้นฉันไปทำอะไรดีกว่าให้มันหายกังวล เคยกันบ้างมั้ยที่.....
...รู้สึกเหมือนลืมปิดประตูต้องกลับไปเช็ค
...รู้สึกว่าตัวเองล้างมือไม่สะอาด ต้องกลับไปล้างอีก
...คิดลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในใจ ขอโทษสวดมนต์ในใจเพื่อลดความรู้สึกผิด
...กลัวเป็นโรคบางอย่าง ไปหาหมอแล้ว แต่ก็ยังไม่แล้วใจ
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นได้ตามปกติหรือเป็นโรคที่ต้องรักษากันนะ
โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่า ความคิดตรวจสอบเหล่านั้นเป็นแค่เพื่อความรอบคอบ ปลอดภัย สะอาด ลดความรู้สึกผิด จึงไม่ค่อยได้มาพบแพทย์ แต่ในความจริงพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ ” เมื่อ
- มีความคิด มโนภาพ หรือความต้องการที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บางครั้งก็รู้สึกว่าไร้สาระ เกินกว่าที่ควรจะเป็น พยายามลืม กดไว้ หรือพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความคิดที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่เป็นผล
- พยายามทำพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อช่วยลดความกังวลที่เกิดขึ้น เช่น ล้างมือ สวดมนต์ ทวนซ้ำๆ
- ความคิด พฤติกรรม เหล่านั้นทำให้ทรมาน เซ็ง เพราะมันรบกวนเวลาชีวิตไป(อย่างน้อยก็มากกว่า 1ชั่วโมงต่อวัน) ทำให้มีผลต่อการดำรงชีวิต เช่น กว่าจะออกจากบ้านเช็คประตูไม่ต่ำกว่า 10 รอบ จนไปทำงานสาย ตรวจทานข้อสอบซ้ำๆ จนทำไม่ทัน เดินนับก้าว จนดูแปลก
โรคย้ำคิดย้ำทำ ≠ Perfectionist
คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ อาจเป็นคน perfectionist อยู่เดิม หรือเป็นคนที่ทำอะไรละเอียดมากกกกก มักมีกฎระเบียบอยู่ในใจ ใครผิดกฎ(ของตน)มักรู้สึกขัดใจ มองคนอื่นเหมือนพวกไร้ระเบียบ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของมนุษย์ perfectionist นี้เจ้าตัวมักมองว่าสมเหตุสมผล เป็นสิ่งที่สมควรทำให้ดี คิดให้รอบคอบ
แต่ในผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ มักรู้สึกว่าความคิด การกระทำของตนบางครั้งก็ไร้สาระเหลือเกิน แต่ห้ามไม่ได้ไม่งั้นก็ทุกข์มากกับความคิดนั้นๆ
จะเห็นว่าไม่เหมือนกันนะคะ อีกอย่าง มนุษย์ perfectionist นั้นมักมีลักษณะดังกล่าวที่ค่อยๆพัฒนามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นนิสัย แต่อาการย้ำคิดย้ำทำมักเกิดมาในภายหลังจนเจ้าตัวรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง อยากจะกำจัดความคิด พฤติกรรมแปลกปลอมนี้ออกไป
ถ้าเริ่มเป็นจนก่อให้เกิดความทุกข์ ทรมาน อาจต้องหาตัวช่วยนะคะ เพราะอาจเป็นโรคที่ต้องการการรักษา โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นบ้า ดังนั้นไม่ต้องอายหรือกลัวที่จะไปพบแพทย์นะคะ
ถ้าเริ่มเป็นจนก่อให้เกิดความทุกข์ ทรมาน อาจต้องหาตัวช่วยนะคะ เพราะอาจเป็นโรคที่ต้องการการรักษา โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นบ้า ดังนั้นไม่ต้องอายหรือกลัวที่จะไปพบแพทย์นะคะ
" ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือนผู้ป่วยพาร์คินสันที่มีอาการสั่นของมือเพราะเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ส่วนโรคย้ำคิดย้ำทำก็คล้ายกันที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ไม่สามารถควบคุม ยับยั้งความคิด พฤติกรรมได้ดั่งใจ ดังนั้นถ้าไม่รีบรักษาอาการก็จะเป็นหนักขึ้น รักษายากขึ้นด้วยนะคะ ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวรีบมาปรึกษาแพทย์จะดีกว่า "
ปล. แพทย์จะช่วยคุณอย่างไร
- เริ่มตั้งแต่ให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง
- จากนั้นอาจเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยาที่ไปปรับสมดุลสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ
- ทำจิตบำบัด เช่น การปรับความคิดและพฤติกรรม