วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความสุขที่หาซื้อได้

คนเรามักคิดว่าเราคงมีความสุขถ้า....ฉันสวย(หล่อ) กว่านี้
                                                            ....ฉันรวยกว่านี้
                                                            ....ฉันเก่งกว่านี้
                                                            ....ฉันประสบความสำเร็จ มีคนนับหน้าถือตามากว่านี้
                                                            ....ฉันสุขภาพดีกว่านี้
                                                            ....ฉันมีครอบครัวที่มีความสุขมากกว่านี้ 
                                                            ....ฉัน ฯลฯ..............


เราจึงมักดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหวังว่า เรา จะเจอความสุขได้ในสักวันหนึ่งเมื่อเราได้มีหรือได้เป็นอย่างที่เราหวังเอาไว้

ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงอยู่ด้วยความรู้สึกขาดพร่องอยู่ตลอดเวลา รู้สึกเหงา โดดเดี่่ยว ไม่ยินดีกับตนเอง

หลายครั้งได้มีประสบการณ์ดีๆผ่านเข้ามาให้ได้เรียนรู้  ประสบการณ์ความทุกข์เพราะความอยากได้  อยากเป็น อยากมี


ผู้หญิงคนหนึ่ง ภายนอกทุกคนมองว่าเธอช่างเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เป็นอย่างที่ใครๆก็ใฝ่ฝัน เธอสวย เธอรวย เธอเก่ง คนภายนอกคิดว่าชีวิตเธอคงมีแต่ความสุข

แต่แท้ที่จริงแล้วการที่เธอเป็นอย่างนั้น ทำให้เธอยิ่งทุกข์กับสิ่งที่เธอต้องเป็น ต้องพยายามทำตัวเองให้ได้อย่างที่คนอื่นคาดหวัง อย่างที่คนอื่นต้องการ ทั้งพ่อ แม่ ครอบครัว หรือสังคม

เธอต้องทุกข์เพราะความอยากของคนอื่น

และการที่เธอมีดีต่างจากคนอื่นนั้น ทำให้เธอคิดเอง ว่าเธอเก่ง เลิศ ไม่เหมือนใคร เธอไม่เคยเห็นใครดี ดูถูกคนอื่น ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม

เธอก็ต้องทุกข์จากการยึดตัว ถือตน 



ผู้หญิงวัยกลางคน  คนหนึ่ง   แม้ว่าไม่ได้เกิดมาสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยความพยายาม ทำให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิต เธอจึงเรียนรู้ว่าเธอ ต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดถึงแปลว่าประสบความสำเร็จ  รวมถึงการหาคู่ชีวิตด้วย เธอแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งที่คนอื่นมองว่าสมบูรณ์แบบ ทั้งหล่อ รวย เก่ง

แต่หลังจากแต่งงานกันได้ไม่ถึงครึ่งปี ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อสามีของเธอไปมีคนอื่่น แท้จริงปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะ   เธอเอง.....

ด้วยความรู้สึกลึกๆของเธอที่ อยากได้ใคร่ดีมาตลอดนั้น ก็เพียงเพื่อมาชดเชยความรู้สึกพร่อง     รู้สึกขาด    ทั้งๆที่ไม่เคยมองเลยว่าตัวเองมีคุณค่า เหมาะสมกับสิ่งที่เธอได้มาครอบครอง

รวมถึงคนรักของเธอด้วยที่ลึกๆแล้ว เธอรู้สึกว่าตนเองไม่คู่ควร เธอจึงอยู่กับเขาด้วยความระแวง ว่าเขาจะไปเจอคนอื่นที่ดีกว่า และเหมาะสมกว่า  เธอจึงคอยระแวง ประชดประชัน กังวล บ่น จับผิด  มีปากเสียงกันบ่อย มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ

สามีก็เริ่มเบื่อเธอจริงๆ อย่างที่เธอกังวล ทำให้เขาเผลอใจไปกับผู้หญิงคนอื่นจริงๆ (ทั้งๆที่ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ได้ดีไปกว่าเธอเลย)

ความโชคดีที่คนอื่นเห็น ว่าเมื่อได้ครอบครองสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะมีความสุข แท้ที่จริงแล้วการที่ได้ครอบครองสิ่งที่เป็นที่ปรารถนานั้นก็พ่วงมาด้วยความทุกข์

และเมื่อหมดสิทธิ์ที่จะได้ครอบครอง ก็ยิ่งทำให้ทำใจยากที่จะต้องสูญเสียสิทธิ์นั้นไป ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์มากขึ้นไปอีก




ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง   เธอโชคดีที่ได้เจอสิ่งที่ใครๆเรียกว่าเนื้อคู่ หรือคู่แท้ ทั้งสองคนเป็นรักแรกของกันและกัน แต่งงานกัน มีลูกด้วยกัน 2 คน หลังจากแต่งงานชีวิตเธอก็กลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว โดยสามีเธอเป็นคนรับผิดชอบดูแลครอบครัวทั้งหมด ถึงแม้ว่าสามีของเธอไม่ใช่คนที่หล่อ รวย หรือดีกว่าใคร แต่ในสายตาของเธอ เขาก็เป็นสามีที่ซื่อสัตย์ และดูแลเธอและครอบครัวอย่างดี

ชีวิตเธอหลงอยู่ในความสุขที่ได้รับ เรื่องนี้อันที่จริงน่าจะจบลงอย่างมีความสุข แต่ ความเป็นจริงความสุขไม่ได้อยู่กับเรานาน

ข่าวร้ายที่เธอไม่เคยเตรียมใจรับกับมันก็เิกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งสามีเธอไปตรวจสุขภาพพบว่าอาการไอเรื้อรังที่เป็นมาในช่วงหลายเดือนนั้นไม่ใช่ภูมิแพ้ธรรมดา แต่มันเป็นมะเร็ง....ที่คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

เงามืดเริ่มคืบคลานเข้ามาในชีวิต หลังจากนี้เธอจะทำอย่างไร เธอสับสน เคว้งคว้าง เหมือนใบไม้ที่ล่องลอยอยู่กลางทะเล ไม่มีที่ให้ยึดเกาะเหมือนที่ผ่านมา เวลานั้นเธอรู้สึกมืดมน ความคิดแรกที่เกิดขึ้นคือ ถ้าสามีเธอเป็นอะไรเธอคงอยู่ไม่ได้ เธอขอตายดีกว่า โดยเธอคิดจะพาลูกทั้ง 2 คน ไปด้วย โชคยังดีที่เธอยังไม่ได้ทำอย่างนั้นจริงๆ

การที่เรามีความสุขกับอะไรมากๆ ก็อาจทำให้เราประมาทที่จะเตรียมตัวเผชิญกับธรรมชาติของโลกที่ว่า .....ทุกอย่างต้องมีการจากลา 
                       .....ทุกอย่างเมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดสิ้นสุด
                       .....ไม่มีอะไรที่อยู่คงทน
                       .....ไม่มีอะไรที่เราสามารถไปยึดได้ว่าเป็นของเราจริงๆ

ความสุขที่เกิดขึ้นก็เหมือนหลุมพรางของธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่ทำให้เราหลงวน กับสิ่งอันสวยงามภายในหลุมนั้น แต่พอรู้ตัวอีกทีเราก็ถูกกลบ ถูกขังอยู่ในหลุมนั้น เมื่อภาพลวงตานั้นหายไปคงเหลือแต่ ความมืดมน เพิ่งมาเห็นว่าหลุมที่หลงอยู่นั้นเป็นทุกข์



ทำอย่างไรหละ..ถึงจะได้ไม่ต้องหลงอยู่ในหลุมลวงความสุขนั้น

เมื่อยังดำรงสถานะความเป็นมนุษย์นั้น เราคงมีความรู้สึกทั้งสุข และทุกข์ มีอารมณ์ชอบ ไม่ชอบ ได้เสมอ แล้วก็ไม่ผิดที่จะหลงอยู่ในสุข หลงอยู่ในทุกข์ แต่สิ่งที่จะช่วยให้ไม่ประมาทก็คือ การมีสติรู้เท่าทันความรู้สึกที่เิกิดขึ้นขณะนั้นๆ

สุขก็แค่รู้ หลงอยู่ในสุขนั้นก็แค่รู้ และพร้อมเห็นความไม่เที่ยง รู้เท่าทันมัน
เมื่อเกิดความทุกข์ ก็แค่รู้เท่าทันมัน


ก็จะเห็นว่า "แม้ความทุกข์เอง  มันก็ไม่เที่ยง อยู่กับเราได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวมันก็ผ่านไป" 

มีสติ มีความสุข กับปัจจุบันขณะกันนะคะ

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โรคหัวใจ(ขาดคำชม)





เด็กๆสมัยนี้เป็นโรคหัวใจกันมากขึ้นนะคะ ไม่ใช่โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือด แต่เป็นโรคหัวใจ(ขาดคำชม) .......ลองสังเกตุดูนะคะว่าเด็กๆในบ้านมีอาการคล้ายกันอย่างนี้หรือเปล่า 

                                                               

ครอบครัวหนึ่งมาปรึกษาเนื่องจาก ลูกสาวที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น อยู่ๆ ก็มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก มือจีบเกร็ง คุณแม่กังวลกลัวว่าลูกสาวคนเดียวจะเป็นโรคหัวใจ จึงรีบพามาตรวจหาสาเหตุ หลังจากไปพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย กลับไม่พบความผิดปกติทางกาย แต่คุณหมอได้สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุจึงส่งให้มาปรึกษา......เพื่อหาสาเหตุทางใจ(หรือช่วยมองหาแผลที่มองไม่เห็น)

ครอบครัวนี้มีกันสามคน พ่อ แม่ ลูก คุณพ่อทำงานบริษัท คุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณแม่จึงมีเวลาใกล้ชิดกับลูกสาวคนเดียวมาก ความใกล้ชิดทำให้คุณลูกสาวซึมซาบความคาดหวังของคุณแม่ไว้ทั้งหมด หนูคือที่สุดของแม่กับพ่อ หนูคือความหวังของแม่กับพ่อ พ่อกับแม่ทำทุกอย่างเพื่อหนูขอแค่ให้หนูตั้งใจเรียน ลูกสาวก็พยายามตั้งใจเรียนเป็นเด็กดีของพ่อกับแม่มาตลอด เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องปกติกับหลายๆครอบครัว




ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผลการสอบปลายภาคออก ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ ลูกสาวรู้สึกว่าตัวเองแย่มาก ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เสียใจ ไม่กล้าบอกพ่อกับแม่ถึงความกดดันที่เกิดขึ้น กลัวเรื่องของตนจะทำให้พ่อกับแม่กังวล เลยเลือกที่จะเก็บไว้คนเดียว ความไม่สบายใจเลยออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดหัว อาเจียน แน่นหน้าอก ใจสั่น ปวดท้อง ที่สื่อออกมาเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ..... 


(ทั้งๆที่ พ่อกับแม่บอกว่าไม่คาดหวัง มีงานวิจัยออกมาว่าเราสื่อสารด้วยคำพูดแค่ประมาณ1/3 อีก2/3 เราสื่อสารผ่านทางการกระทำ ท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตตัวเองไปด้วยนะคะว่าสื่อสารกับลูกไปทางเดียวกับคำพูดรึเปล่า


                                                          
ที่ผ่านมา ฉันสังเกตว่า คุณพ่อ คุณแม่มักจะมีงานที่ถนัดอย่างนึง(เหมือนๆกัน) คือ “การจับผิดลูก ถ้าลูกทำอะไรไม่ดีพ่อกับแม่ก็มักเป็นห่วงอย่างมาก จะคอยจ้ำจี้ บ่น แต่เรื่องไม่ดี ที่อยากให้แก้ไข แต่เมื่อไหร่ที่เด็กๆทำดี พ่อกับแม่ก็มักสบายใจเลยไม่พูดอะไร แต่ในมุมมองของเด็กๆ ทำให้รู้สึกว่า พวกเขาทำดีเสมอตัว แต่ทำไม่ดีเท่ากับแย่มาก ผิดมาก ถึงโดนบ่นซ้ำๆ 


มุมมองพ่อแม่   

“บ่นมาก + สอนมาก = รักมาก + ห่วงมาก ”

มุมมองเด็กๆ      

“บ่นมาก + สอนมาก = พ่อแม่ไม่ไว้ใจ /เรามันห่วย/เบื่อ/ไม่อยากฟัง/ไม่มีใคร  เข้าใจ/เหมือนอยู่คนเดียวบนโลก”


คุณพ่อ คุณแม่อาจเริ่มกุมขมับแล้วจะให้ทำอย่างไรหละ

จากทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ เชื่อว่า การที่เราอยากให้พฤติกรรมไหนอยู่นานๆ(ส่วนใหญ่ก็มักเป็นพฤติกรรมที่ดี เช่น อ่านหนังสือ พูดเพราะ) ก็ต้องให้แรงเสริมทางบวก(Positive reinforcement) โดยเฉพาะ คำชม (หรืออาจเป็นรางวัลเล็กๆก็ได้) เพื่อให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมไหนที่ทำแล้วคนที่เขารัก(พ่อ/ แม่ ) มีความสุข เขาก็อยากทำมากขึ้นไปอีก 



การชมด้วย I-message จากผลการศึกษาพบว่าการบอกความรู้สึก ความต้องการของเรา จะมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าการตำหนิ หรือการสั่ง

รูปแบบการชม

....ฉัน(แม่/พ่อ)....รู้สึก(ดีใจ ชอบ ชื่นชม)....ที่คุณ(ลูก)....ทำ(พฤติกรรมที่เราชื่มชม เช่น เก็บที่นอนเอง อ่านหนังสือ/ควรระบุพฤติกรรมนั้นๆให้ชัดเจน)

และ....ฉัน(แม่/พ่อ)....รู้สึก(ดีใจ ชอบ ชื่นชม)มากกว่านี้อีก....ถ้าคุณ(ลูก/หนู)....ทำ(พฤติกรรมที่อยากให้ทำมากขึ้นหรืออยากให้เปลี่ยนแปลง) 

เช่น
  •  แม่รู้สึกดีใจมากที่วันนี้ลูกอาบน้ำเองโดยที่แม่ไม่ต้องสั่ง และแม่จะดีใจมากกว่านี้อีกถ้าลูกตื่นเองได้โดยไม่ต้องให้แม่ปลุก 
  • พ่อชื่นชมที่หนูขยันอ่านหนังสือ แต่พ่อว่า หนูจะเก่งขึ้นกว่านี้ถ้าหนูเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์น้อยลง 

คำชม จากพ่อกับแม่ ยังไปเพิ่มความภาคภูมิใจ(Self esteem) ให้เด็กอย่างง่าย ๆ และไม่ต้องลงทุนเข้าโปรแกรมปลุกยักษ์ด้วย สิ่งที่พ่อแม่สมัยใหม่จะทำให้ลูกๆได้คือ 

หันมาจับถูกลูกๆกันเถอะ” 





      "ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องกินยา คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม มาฝึกชมลูกๆกันเถอะค่ะ"

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

(ไม่)รู้จักฉัน (ไม่)รู้จักเธอ

คุณเป็นคนแบบไหน 

ในสังคมเราคงเจอกับคนมากหน้าหลายตา มีนิสัยหรือบุคลิกภาพแตกต่างกันไป บางคนอาจมีแนวคิดหรือความรู้สึกที่เหมือนกับเรา แต่บางคนก็มีแนวคิด การใช้ชีวิตที่ต่างออกไป ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้นั่นเองอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง ทั้งในครอบครัว ที่ทำงานหรือในสังคม

ถ้าเราได้มีเวลาทำความเข้าใจตัวเองและคนใกล้ชิดมากขึ้น ก็อาจทำให้เราเข้าใจถึงแนวคิด รูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรมที่แสดงออกของตัวเราเอง และคนรอบข้าง ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

มีศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะของคน คือ นพลักษณ์(Enneagram) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “ รูปเก้าจุด ” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ


 โดยแบ่งคนออกเป็น 9 ประเภท(ลักษณ์/สไตล์) โดยเชื่อว่า
  • เราทุกคนมีส่วนประกอบของทั้ง 9 แบบ อยู่ในตัวไม่มากก็น้อย 
  • แต่มีเพียงหนึ่งที่เป็นรูปแบบ(ลักษณ์) หลัก ของเรา 
  • แบ่งเป็น 3 ศูนย์ตามประเด็นที่ให้ความสำคัญ คือ 
                        1.ศูนย์ใจ (2,3,4 ) : เน้นภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ ความรู้สึก

                        2.ศูนย์หัว (5,6,7) : เน้นความกลัว ชอบคิดวิเคราะห์

                        3.ศูนย์ท้อง (8,9,1) : เน้นเรื่องสัญชาตญาณ ความโกรธ 

คุณเป็นคนแบบไหน

ศูนย์ใจ 

คนแบบ 2


  • กระตือรือร้น ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีเมตตา
  • ยากที่จะรู้จักความต้องการของตัวเองหรือร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น 
  • จิตใจมักจะฟุ้งไปหาคนอื่น คนนี้เป็นอย่างไร คนนี้มีความสุขไหม สบายดีไหม เขาต้องการอะไร เขา จะอยู่โดยไม่มีเราช่วยเขาได้ไหม
  • ชอบทำให้คนอื่นมีความรู้สึกดี ๆ กับตนเอง 
  • มักจะพยายามหลีกเลี่ยงสภาวะการณ์ที่ทำให้ตนต้องพึ่งพิงผู้อื่น

คนแบบ 3


  • เป็นพวกบ้างานที่พลังเปี่ยมล้น 
  • ต่อสู้สุดชีวิตเพื่อความสำเร็จเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานภาพและการยอมรับ 
  • ชอบการแข่งขันเพราะรักการท้าทายความสามารถของตน 
  • มุ่งสัมฤทธิ์ผลในทุกสถานภาพทำทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยงความล้มเหลว 
  • เป็นผู้นำที่วิเศษ ปลุกพลังพรรคพวกให้เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้

คนแบบ 4


  • มีอารมณ์ศิลปิน หมกมุ่นในอารมณ์ 
  • แสวงหาคู่อุดมคติหรืองานอันเป็นแก่นแท้ ความหมายแห่งชีวิต 
  • มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรู้สึกว่า บางสิ่งที่จำเป็นในชีวิตขาดหายไป 
  • แสดงความพิเศษหนึ่งเดียวให้ปรากฏ ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำคนรู้สึกหรือดูเหมือนคนธรรมดาสามัญ 
  • เข้าใจ และเกื้อหนุนผู้อื่น ที่กำลังระทมทุกข์ทางอารมณ์ ได้อย่างดีเยี่ยม

ศูนย์หัว 

คนแบบ 5


  • หลบเลี่ยงภาวะที่ต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ทุกชนิด 
  • วางตัวอยู่ห่างๆ เฝ้าจับตาสังเกตการณ์ มากกว่านำตนเข้าไปข้องแวะ 
  • ชอบความเป็นส่วนตัวมากจะรู้สึกหมดกำลังและกระสับกระส่ายหากไม่มีเวลาส่วนตัวเพียงพอ จึงมักหลีกเลี่ยงการที่ทำให้คนต้องสูญเสียพลังงาน เวลา ทรัพยากรทุกรูปแบบ 
  • ชีวิตแห่งการคิดเป็นสิ่งสำคัญ โปรดปรานการหาข้อมูล 
  • แบ่งแยกชีวิตออกเป็นส่วนๆ

คนแบบ 6


  • มีความหวาดกลัวเป็นทุนพกพาแต่ความสงสัย 
  • มักจินตนาการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปในทางร้ายเพื่อจะได้ป้องกันได้ทันท่วงที 
  • เกลียดหรือกลัวผู้ที่มีอำนาจ มักจะเข้าข้างฝ่าย หรือเรื่องที่เสียเปรียบ 
  • ไม่ชอบแสดงอำนาจหรือความสำเร็จของตน 
  • ไว้วางใจคนยาก ถ้าไว้ใจได้เมื่อใด ก็จะเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์

คนแบบ 7


  • เด็กที่ไม่ยอมโต ยังรักการผจญภัย 
  • เกลียดชังการติดกับหรือถูกบังคับ ชอบชีวิคอิสระ ที่มีโอกาสและทางเลือกมากที่สุด 
  • มุ่งอนาคตและมีแผนในใจซึ่งรวมทุก ๆ อย่างที่เขาต้องการจะทำให้สำเร็จในฝัน 
  • ปรารถนาที่จะรักษาคงไว้ซึ่งชีวิตที่สนุกสนานทำให้เขาปรับเปลี่ยนความเป็นจริงรอบ ๆ ตัวเพื่อขจัดอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ 
  • ชื่นชอบกับประสบการณ์ใหม่ๆ คนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ

ศูนย์ท้อง 

คนแบบ 8


  • เป็นคนกล้าแสดงสิทธิ์ของตน จนเหมือนก้าวร้าวเป็นครั้งคราว 
  • มักจะเป็นผู้นำหรือไม่ก็สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างดุเดือด 
  • รักษาความยุติธรรม เที่ยงธรรม เที่ยงตรง 
  • ไม่ยอมปล่อยให้ตนเองถูกควบคุม แต่อาจครอบงำคนอื่น ยอมให้ตนรู้สึกอ่อนแอหรือถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอไม่ได้ 
  • บ่อยครั้งมีความรู้สึกน้อยใจ เสียใจที่มีคนเอาเปรียบ

คนแบบ 9


  • ใฝ่สันติ เข้าอกเข้าใจมุมมองของคนทั้งหลายได้อย่างยอดเยี่ยม 
  • มักจะไม่เข้าใจความคิด ความต้องการของตัวเองดีนัก 
  • ชอบชีวิตที่ราบรื่นกลมกลืน ยอมรับสภาวะของความขัดแย้งแตกต่างกันไม่ได้และจะคอยหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ 
  • ชอบผัดผ่อนสิ่งที่จำเป็นต้องทำจนนาทีสุดท้าย 
  • เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และนักเจรจาต่อรองที่ดี

คนแบบ 1


  • ชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและผู้อื่นเสมอ ว่าอะไร "ควร" และ "ไม่ควร" 
  • จริงจังกับความรับผิดชอบ มักจะอุทิศตัวให้กับการทำคุณประโยชน์ เมื่อเชื่อมั่นในความถูกต้องในสิ่งนั้น 
  • ปรารถนาจะให้สิ่งที่ตนกระทำ ปราศจากข้อบกพร่องและมีมาตรฐานที่สูง จึงมักจะหลีกเลี่ยงการทำความผิดพลาด 
  • เป็นการยากที่จะปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเพลิดเพลิน 
  • บางครั้งรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้น ถ้ามีใครไม่เดินตามกฎ

บทสรุป 
  • สไตล์หนึ่ง   - เพอร์เฟคชั่นนิสต์ อยากทำทุกอย่างให้ถูกต้องสมบูรณ์ 
  • สไตล์สอง   – ผู้ช่วยเหลือ ต้องการเป็นที่รักและชื่นชมของผู้อื่น 
  • สไตล์สาม   – ผู้ใฝ่สำเร็จ มีแรงขับในการสร้างผลงานที่ดี 
  • สไตล์สี่       – คนโรแมนติก จดจ่อกับอารมณ์ความรู้สึกอันลึกซึ้ง งดงาม 
  • สไตล์ห้า     – นักสังเกตการณ์ สนใจใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ 
  • สไตล์หก     – นักตั้งคำถาม แสวงหาความมั่นคงทางใจ 
  • สไตล์เจ็ด    – นักผจญภัย เสาะหาความสนุกสนาน ความแปลกใหม่ 
  • สไตล์แปด   – ผู้ปกป้อง เข้มแข็ง มีพลัง รักความยุติธรรม 
  • สไตล์เก้า     – ผู้ประสานไมตรี หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

“นพลักษณ์มีประโยชน์ช่วยในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง........เหมือน ต่าง อย่างเข้าใจ”

ที่มา: www.enneagramthailand.org (สมาคมนพลักษณ์ไทย)

ผิดเพศ ผิดปกติด้วยหรือ


ชอบเพศเดียวกันโรคจิตรึเปล่า..... 

เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ไบ ตุ๊ด ต่างกันอย่างไร......

ความชอบทางเพศไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมยอมรับ ทำไงดี..... 



วิศวกรหนุ่ม อายุ 30 ปลายๆ ใช้ชีวิตเพลบอยมาตลอด แต่งงานมีลูกเมีย ชีวิตดูราบรื่นดี วันหนึ่งเขาออกไปดื่มกับเพื่อน น้องๆ ที่แผนก ตกดึกด้วยความเมาและความกำหนัด เขาเผลอมีเพศสัมพันธ์กับรุ่นน้อง เรื่องมันดูยุ่งขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ก็ดูเป็นปัญหาที่เจอได้ สามีมีเมียน้อย แต่บังเอิญรุ่นน้องคนนั้นเป็น ผู้ชาย เรื่องมันเลยยุ่งขึ้นไปอีก
 
วิศวกรหนุ่มคนนี้มาพบฉัน เพื่อปรึกษาเพราะว่าอยากเลิกเป็นเกย์ หลังจากที่เขามีอะไรกับรุ่นน้องชายคนนั้นทำให้เขารู้ว่าจริงๆแล้วเขารักและชอบเพศเดียวกันมากกว่า  

แต่รุ่นน้อง(ชาย)รู้สึกผิดที่ไปมีอะไรกับคนที่มีครอบครัวแล้ว จึงขอตีตัวออกห่าง วิศวกรหนุ่มรู้สึกแย่มาก เลยคิดว่าถ้าตนหายเป็นเกย์ ก็คงกลับไปรักภรรยาได้เหมือนเดิม !!!!!




ช่วงที่ผ่านมา มีคนมาปรึกษาเกี่ยวกับ การผ่าตัดแปลงเพศ ความรู้สึกชอบเพศเดียวกันหรือชอบทั้งสองเพศ หลายคนเก็บกดความต้องการนี้ไว้ภายในตั้งแต่เด็ก หลายคนเพิ่งมารู้ตัวเองว่าสิ่งที่ผ่านมาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แต่ก็ไม่กล้าเปิดเผย นั่นก็ยิ่งทำให้เป็นทุกข์ อึดอัด กับเพศสภาพแบบนี้ กลัวสังคมหาว่าเป็นโรคจิต แท้ที่จริงแล้วภาวะต่างๆเหล่านี้คืออะไรกันแน่

เพศ แท้จริงแล้วอะไรเป็นตัวบอก..... สิ่งที่บ่งบอกความเป็นเพศ เช่น ลักษณะทางกายภาพ สรีระ หรือเพศอาจเป็นผลจากการเลี้ยงดู พฤติกรรมที่แสดงออก เช่น ด้านสัมพันธภาพกับบุคคลภายนอก รวมถึงกับรับรู้ถึงบทบาททางเพศภายในของตนเอง หรืออาจบอกได้ว่า มี 4 องค์ประกอบหลักๆ คือ

  • Sexual identity สิ่งที่กำหนดโดยโครโมโซมเพศ (xx ในผู้หญิง,x y ในผู้ชาย) เป็นตัวกำหนดการสร้างอวัยวะ ฮอร์โมนเพศให้มีลักษณะเป็นหญิงหรือชาย อันนี้ติดตัวแต่เกิด


  • Gender identity ความรู้สึกภายในของแต่ละคนที่รับรู้ถึงความเป็นชาย ความเป็นหญิง ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มพัฒนาและมั่นคงตั้งแต่อายุในช่วง 2-3 ขวบ ดังนั้นพ่อแม่และการเลี้ยงดูจึงมีบทบาทสำคัญมาก ให้พ่อเป็นแบบอย่างของลูกชาย แม่เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกสาว 
                                                     

  • Sexual orientation เป็นสิ่งที่บอกความชอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ อาจเป็นแบบที่ชอบเพศตรงข้าม(Heterosexual) ชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) หรือชอบทั้งสองเพศ(Bisexual) 
                                                       

· Sexual (role) behavior การแสดงออกภายนอกถึงลักษณะทางเพศ เช่น การแต่งตัว การใช้ชีวิต สังคม เป็นผลจากการเลี้ยงดู ออกมาเป็นลักษณะที่เรียกว่าสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี 

           



“ถ้าองค์ประกอบทุกส่วนไปในทางเดียวกัน ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่บางสิ่งก็ไม่เป็นไปตามนี้ทั้งหมด แล้วอย่างนี้จะเรียกเป็นความผิดปกติหรือไม่” 

ความผิดปกติเหล่านี้มีคนเข้าใจผิดกันมาก ว่าเป็นพวก “โรคจิต ผิดเพศ” ความเป็นจริงความผิดปกติเหล่านี้ไม่ได้เป็นกลุ่ม “โรคจิต” อย่างที่เข้าใจกันเพราะไม่ได้ออกจากโลกของความเป็นจริง(Out of reality) ไม่ได้มีผลทำให้เสียหน้าที่การงาน ยังใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นทั่วไปในสังคมได้อย่างดี

ทางการแพทย์ไม่จัดว่า คนที่มีลักษณะ ที่ชอบเพศเดียวกัน หรือทั้งสองเพศ(ซึ่งคนไทยอาจเรียกว่า เกย์ ดี้ ไบ) ว่ามีความผิดปกติ แต่เชื่อว่าเป็นแค่รสนิยม(ทางเพศ)ของแต่ละคนเท่านั้น เหมือนกับ บางคนชอบกินอาหารป่า กินเผ็ด กินหวาน กินเค็ม กินรสจัด ก็เท่านั้นเอง 


 

คนกลุ่มนี้ถ้าสามารถปรับตัว ยอมรับกับสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ คนรอบข้างเข้าใจ ก็สามารถอยู่ในสังคมได้ตามปกติ    แต่จะมีปัญหาเมื่อไม่สามารถปรับตัวยอมรับ ความเป็นจริงได้ ซึ่งทางการแพทย์ไม่มียาหรือการรักษาให้หายได้นะคะ อาจแค่ช่วยให้คุณยอมรับกับสิ่งที่คุณเป็นให้ได้


                                                 
แต่ก็มีหลายคนที่มาปรึกษาด้วยเรื่องที่ต่างออกไปคือ

มาขอให้ประเมินสภาพจิตเพื่อต้องการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเล่าให้ฟังว่า เหมือนเกิดมาในร่างที่ผิด รู้สึกเหมือนถูกขังคุก ร่างกายภายนอกเป็นชายแต่ความรู้สึกภายในทุกอย่างเป็นผู้หญิง อยากแต่งตัวแบบผู้หญิง อยากมีเพื่อนผู้หญิง อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับตนเหมือนเป็นผู้หญิง อยากให้ผู้ชายที่ตนรักมองตัวเองเหมือนเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ด้วยคุกภายนอกที่ขังอยู่ในร่างของผู้ชาย หรือมีคำนำหน้าว่านาย ทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกทุกข์ทรมาน อึดอัด อยากพ้นสภาพที่เหมือนถูกจองจำแบบนั้น 




หาวิธีทำให้ตนเหมือนผู้หญิงมากที่สุด อาจเริ่มจากสิ่งที่ทำง่ายๆ เช่นแต่งตัวให้เหมือนผู้หญิง แสดงออกให้เหมือน แต่ความต้องการที่แท้จริงคือการเอาคุก(เครื่องเพศที่ไม่ตรงกับความต้องการ)ออก สร้างโลกใหม่ที่ตรงกับโลกภายใน วิธีการคือการใช้ยาพวกฮอร์โมนเพศ หรือการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งคนที่มีความผิดปกติแบบนี้ทางการแพทย์จะจัดอยู่ในกลุ่ม ความผิดปกติเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity disorder หรือที่คนไทยเรียกว่า ตุ๊ด แต๋ว กะเทย ทอม) ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้เดียวที่จะอนุญาตให้ทำการผ่าตัดแปลงเพศได้ หลายคนเล่าให้ฟัง เขารู้สึกว่าอวัยวะที่บอกความเป็นเพศอย่างเช่น หน้าอก มดลูก (ในผู้หญิง) องคชาติ อัณฑะ(ในผู้ชาย) เป็นเหมือนเนื้องอก หรือมะเร็ง ที่เป็นส่วนเกินในชีวิต 



ดังนั้นถ้าคุณหรือเห็นคนใกล้ตัว รู้สึกแบบนั้น อยากให้เปิดใจยอมรับ ช่วยกันหาทางออก การตำหนิ ต่อว่า ยิ่งเพิ่มความรู้สึกกดดันมากขึ้น ชีวิตมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องเพศ ให้กำลังใจกันนะคะ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“ฉันไม่อยากเศร้า”

เศร้า.เบื่อ.เซ็ง..อารมณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติเมื่อเจอกับเรื่องของการสูญเสีย อาจเป็นผลจากความผิดหวังเรื่องการงานไม่ได้ตามที่หวัง สูญเสียเงินทอง พลัดพรากจากคนที่รัก มีปัญหาสุขภาพ มีชีวิตที่แก้ไม่ตก




 ภาวะอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราว แต่เมื่อใดที่เริ่มเป็นติดต่อกันเรื้อรังยาวนา
(มากกว่า 2 สัปดาห์)ร่วมกับอาการ
  •  นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ 
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงหรือทานมากกว่าปกติ 
  •  รู้สึกกังวล กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย 
  •  เบื่องานอดิเรกที่เคยชอบทำ 
  • รู้สึกเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง 
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ล้มเหลว 
  • ไม่มีสมาธิ หลงๆลืมๆ 
  • มีอาการป่วยทางกายเรื้อรัง หาสาเหตุไม่พบ 
  •  คิดอยากตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย 

                                               
                                                 อาจกลายเป็น..โรคซึมเศร้า

อาจแบ่งได้เป็น 

  • ภาวะซึมเศร้าชั่วคราว (Adjustment disorder)เป็นหลังจากเผชิญกับเรื่องที่ทำให้เสียใจภายใน 3 เดือน ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ 
  • ภาวะซึมเศร้ารุนแรง(Major depressive disorder)มีอาการดังกล่าวเกิน 5 อาการ ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง รู้สึกผิดอย่างมาก เสียหน้าที่การงาน
  • ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง(Dysthymia)มีความรู้สึกเบื่อ เซ็งติดต่อกันหลายปี (มากกว่า 2 ปี) ไม่มีช่วงที่มีความสุขเลย ยังพอฝืนไปทำงานได้



ฉันเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร... 

แต่ละคนมีปัจจัยที่ทำให้มีแนวโน้มที่จะป่วยได้ต่างกันเช่น

-ผลจากพันธุกรรมในครอบครัว ที่มีโรคความผิดปกติทางอารมณ์

ทำให้มีแนวโน้มเกิดความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองได้ง่าย

· Serotonin:เบื่ออาหารรู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด อยากฆ่าตัวตาย

· Dopamine:ไม่มีความสุข ไม่มีสมาธิ เบื่องานที่เคยชอบ

· Norepinephrine: ไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย

-โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไร้ท่อ โรคเรื้อรัง

-การได้รับ/ภาวะถอนจากสารหรือยาบางประเภท เช่น สุรา ยาลดน้ำหนัก

-บุคลิกภาพ การปรับตัวที่เป็นปัญหา เช่น ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง มองโลกในแง่ลบ




และอาจมีปัจจัยมากระตุ้นแตกต่างกัน เช่น อกหัก ตกงาน เสียอวัยวะ พลัดพราก สอบตก ป่วย เป็นต้น

" หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดจาก 3 องค์ประกอบทั้ง กาย –จิต –สังคม "




เราดูแลรักษากันอย่างไร... การรักษาเน้นการฟื้นฟูปรับทั้ง กาย-จิต-สังคม โดย

การกินยา :ยาจะมีผลไปปรับสมดุลเคมีในสมองที่ลดลงจากภาวะซึมเศร้า เช่น กลุ่มยาต้านเศร้า ยาคลายกังวลเช่น SSRI ,SNRI,TCA เป็นต้น โดยปกติยาจะเห็นผลประมาณสัปดาห์ที่1-2 หลังจากเริ่มยาและแพทย์มักแนะนำให้กินต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ 
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปากแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อาการดังกล่าวมักเกิดช่วงแรกของการเริ่มยา 



การปรับความคิด : ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากความคิด ซึ่งคนเรามีแนวโน้มจะทุกข์เพราะคิดผิด เช่น                เรื่องดีๆที่เกิดเป็นเรื่องบังเอิญ
                             ฉันมันโชคร้าย ต้องเกิดเรื่องแย่กับฉันแน่ๆ
                             ไม่มีใครช่วยฉันได้ ฉันต้องจัดการมันคนเดียว
                             ทุกอย่างหมดสิ้นแล้ว หมดหวังแล้ว เป็นต้น

อาจเริ่มจากการฝึกสติ รู้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้น ตรวจสอบหาความถูกต้องของความคิด และพิจารณาดูว่าความคิดนั้นมีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ปล่อยมันไปบ้าง ให้อภัยกับความผิดพลาด ให้โอกาสตัวเองกลับมาเริ่มต้นใหม่ 


เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม :อาจให้เวลากับตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้รู้สึกเจ็บทรมาน อาจใช้เวลาไปพักผ่อน ออกกำลังกาย เลี้ยงสัตว์ หาที่ปรึกษาที่รู้สึกไว้ใจ เบี่ยงเบนจากความคิดสู่กิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น ไปวัด/โบสถ์ เป็นต้น 





ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

“ความรู้สึกเศร้าแบบนี้ เดี๋ยวก็หายไปเอง”
ความจริงก็อาจใช่ถ้าเป็นแค่ภาวะซึมเศร้าแต่เมื่อใดที่อาการเป็นรุนแรง เรื้อรัง อาจเป็นโรคซึมเศร้าที่ต้องการการดูแลมากขึ้น

 “อย่าไปพูดเรื่องแย่ๆ สิเดี๋ยวจะแย่กันไปใหญ่
” ความจริงการให้โอกาสได้พูดคุยเพื่อระบายความไม่สบายใจ จะช่วยให้อาการดีขึ้น

“ฉันไม่เป็นโรคแค่เศร้าเอง ไม่ต้องกินยาก็ได้”
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แสดงว่าคุณมีอาการรุนแรงจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การกินยาจะช่วยให้คุณดีขึ้น ร่วมกับการปรับความคิดและพฤติกรรม

“ฉันเป็นบ้ารึเปล่า” โรคนี้ไม่ใช่โรคจิต เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นบ้า




                                                 




“ ประมาณกันว่าใน 100 คนพบคนที่เป็นโรคซึมเศร้าถึง 12-20 คน ”


    ดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลซึมเศร้ากันเถอะ

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ดูดีได้ ใน 1วัน



หลายคนทราบถึงผลเสียของการมีน้ำหนักตัวเกิน เชื่อว่าหลายคนก็เคยมีประสบการณ์การลดน้ำหนักมาบ้าง มีหลายสูตร หลายวิธี ซึ่งหลักการง่ายๆก็คือ การลดการเอาสารอาหารเข้าไป (ลดการบริโภค) และเพิ่มการกำจัดส่วนเกิน(เพิ่มการเผาผลาญ/ออกกำลังกาย) หรือให้ Output > Intake นั่นเอง 



แต่จะมีสักกี่คนที่ทำสำเร็จ บางคนท้อจนล้มเลิกความตั้งใจหรือหันไปหาวิธีง่ายๆเช่นการกินยาลดน้ำหนัก เข้าสถาบันลดน้ำหนักแทน แท้ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดในการลดน้ำหนักคือ การสร้างแรงบันดาลใจ เพราะการควบคุมน้ำหนักเหมือนเป็น การเปลี่ยนพฤติกรรมครั้งยิ่งใหญ่ “พูดง่าย ทำยาก หลายคนจึงไม่ทำ และหลายคนก็พยายามทำแต่ไม่สำเร็จ” 


ทำไมถึงทำได้ยาก 


การกินอาหาร นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว การกินแต่ละครั้งยังไปเพิ่มสารความสุขในสมองด้วย (เหมือนกับการใช้ยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อมีความรู้สึกประสบความสำเร็จ ) เราจึงมีความสุขกับการกิน (Enjoy eating!) ถ้าให้หยุดกินก็เหมือนความสุขบางอย่างหายไป เกิดอาการลงแดง บางคนก็หงุดหงิด กระสับกระส่าย ใจหวิวๆ น้ำลายสอ เหมือนอะไรขาดหายไปในชีวิต ยอมแพ้ กลับไปกินใหม่เหมือนเดิม เป็นวัฏจักรแบบนี้ กินมาก →น้ำหนักขึ้น →รู้สึกผิด→ ลดน้ำหนัก ซ้ำไปมา 



สาเหตุของความอ้วน

-พันธุกรรม จากการศึกษาพบว่ามียีน(บางตัว)ที่ถูกส่งต่อจากบรรพบุรุษ มีผลให้ระบบเผาผลาญต่ำ กินจุ

-โรคทางกาย โรคบางโรคมีผลต่อระดับการเผาผลาญในร่างกาย เช่น ไทรอยด์ต่ำ การใช้ยาบางชนิดเพิ่มความอยากอาหารหรือเพิ่มการดูดกลับของน้ำ

-พฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย สังคมทุกวันนี้ เน้นความสะดวก หาอะไรง่ายๆ กินง่าย อยู่ง่าย แต่มักทำให้ตายง่ายด้วย เพราะอาหารที่สะดวกซื้อ ก็มักมีแต่แป้ง ทอด มัน หวาน เค็ม กลับจากทำงานก็เหนื่อยกลับมานอนไม่ออกกำลังกาย เด็กๆก็เลียนแบบการใช้ชีวิตแบบนี้ของพ่อแม่ เกิดเป็นวิถีการกิน(มัก)ง่าย อยู่ง่าย(ไม่ออกกำลังกาย) ตามมา 




การสร้างแรงบันดาลใจ 

- พิจารณาโทษของการมีน้ำหนักเกิน ผลเสียที่มารบกวนเป้าหมายในชีวิต เช่น สุขภาพแย่ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หาแฟนยาก บุคลิกภาพไม่ดี

- ตั้งเป้าหมายที่ต้องการ เช่น ฉันไม่อยากกินยาลดไขมัน ฉันไม่อยากฉีดยาเบาหวาน ฉันไม่อยากปวดเข่า ฉันอยากใส่เสื้อผ้าสวยๆได้ ฉันอยากแต่งงานหาแฟนหล่อๆ ฉันจะลดคำสบประมาทจากทุกคน

- เขียนแผนการลดน้ำหนัก ที่เป็นรูปธรรม

1. ควรตั้งเป็นเป้าหมายเล็กๆ เช่น สัปดาห์ละ 0.5 -1 กิโลกรัม จะได้เพิ่มกำลังใจให้ทำต่อไป

2. หาวิธีการ ที่คิดว่าทำได้แน่นอน ควรเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสนุก ไม่กดดันเกินไป เช่น

-ฉันจะออกกำลังกายโดยการ วิ่ง ที่ สนามกีฬา ทุก วัน วันละ 30 นาที ช่วง 18.00 น.

-ฉันจะงด แป้ง โดยการ ลดปริมาณข้าวเหลือ ครึ่งทัพพี และไม่กินขนมปัง น้ำอัดลม เป็นต้น

3. คิดถึงรางวัล เมื่อทำสำเร็จตามแผนในแต่ละสัปดาห์ การมีรางวัลเล็กๆเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดี เช่น ถ้าทำได้ จะให้รางวัลเป็นไอศกรีม 1ถ้วย ซื้อเสื้อผ้าซักชุด งดออกกำลัง 1 วัน เป็นต้น 




- คาถาสะกดใจ เวลาที่รู้สึกท้อ อยากยอมแพ้ ใช้คาถาไว้สะกดใจตัวเอง อาจใช้เป็นรูปดาราที่หุ่นดี อาจเขียนเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ใส่การ์ดช่วยเตือน อาจใช้เป็นรูปตอนอ้วนพุงปลิ้น อาจเป็นคำพูดให้กำลังใจ เช่น สู้โว้ย ! ฉันทำได้ ! อดทน ! จงลดๆ! ไม่หิว ไม่อยาก ไม่กิน! หรืออาจใช้การจินตนาการ เช่น เวลาออกกำลังกายก็ให้นึกถึงก้อนไขมันที่กำลังละลาย ฉันจะเอาชนะแกเจ้าไขมัน !

- สร้างวินัย การควบคุมตนเอง ทำอย่างสม่ำเสมอ จนร่างกายเคยชินกับพฤติกรรมใหม่ ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

 

  • ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการควบคุมอาหาร 
อดมื้อกินมื้อ กินให้น้อยที่สุด : ความเป็นจริงก็คือ การอดอาหารยิ่งทำให้การเผาผลาญพลังงานลดลง ดังนั้นควรกินอาหารครบทั้ง 3 มื้อ โดยเน้นที่อาหารเช้า แต่ลดปริมาณอาหารเย็น กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดย 2/3 ส่วนเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ คือ ผัก ผลไม้ (ที่มีน้ำตาลต่ำเช่น ฝรั่ง ชมพู่ แตงโม) และน้ำเปล่า และอีก 1/3 ส่วนเป็น อาหารที่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะในกลุ่มโปรตีน ดังนั้นควรเลือกเป็นอาหารจำพวก ปลา ถั่ว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน



ลดอาหารมันๆแล้วทำไมยังอ้วน : หลายคนเข้าใจว่าความอ้วนอยู่ที่แค่อาหารพวกไขมัน เช่น ขาหมูติดมัน ของทอดติดมัน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารที่ให้พลังงานและสามารถเปลี่ยนเป็นรูปไขมันได้ มีทั้งกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำตาล ข้าว นมข้นหวาน ) และกลุ่มไขมันอิ่มตัว ( ไขมันจากสัตว์ กะทิ ) ดังนั้นควรลดอาหารในกลุ่มนี้ทั้งหมดหันมาบริโภคอาหารในกลุ่มโปรตีน เพื่อนำไปสร้างมวลกล้ามเนื้อแทนชั้นไขมัน เปลี่ยนวิธีการทำอาหารเป็นการนึ่ง ย่าง ต้ม ผัดกับน้ำ แทนการทอดโดยใช้น้ำมัน

  •  ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการออกกำลังกาย 
ทำงานหนักก็เป็นการออกกำลังกายแล้ว : ความเป็นจริงการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญให้ร่างกาย ควรทำให้การเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 60 เปอร์เซนต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดในแต่ละช่วงอายุ เช่น อายุ 20 ปี ชีพจร 130 ครั้ง/นาที อายุ 30ปี ชีพจร 125ครั้ง/นาที อายุ 40ปี ชีพจร 120 ครั้ง/นาทีอายุ 50 ปี ชีพจร 115ครั้ง/นาที อายุ 60 ปี ชีพจร 110 ครั้ง/นาที



ไม่มีเวลา เล่นกีฬาไม่เป็น ไม่รู้จะไปออกกำลังที่ไหนแถวบ้านไม่มีฟิตเนส : ความเป็นจริงแค่เพียงมีการเคลื่อนไหวร่างกายต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 15-30 นาที ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายแล้ว เช่น เดิน วิ่ง ยกแขน ลุกนั่ง บิดเอว ขยับตัวไปมาติดต่อกัน อาจใช้แค่พื้นที่ในบ้าน หรือ รอบๆบ้าน ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก หรือเล่นกีฬาหักโหม ทำกิจกรรมที่ทำได้ และสนุกไปกับมัน

  •  ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับยาลดน้ำหนักและสถาบันลดน้ำหนัก 
กินยาอย่างเดียว ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องออกกำลังกาย ก็ลดได้ ไม่โยโย่ : แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเรายังไม่ปรับพฤติกรรมการกินเหล่านี้ และยังไม่ออกกำลังกาย เหมือนคนนิสัยไม่ดี ถ้ายังไม่เปลี่ยนนิสัยก็อย่าหวังว่าจะมีใครมารัก ยาส่วนใหญ่มีผลลดความอยากอาหาร หรือลดการดูดซึมอาหารแต่แค่ช่วงแรกเท่านั้น ถ้าหยุดกินยาไม่เปลี่ยนนิสัยก็อ้วนอยู่ดี

มีเงิน เข้าสถาบันลดน้ำหนักเอาก็ได้ : ความเป็นจริงทุกสถาบันลดน้ำหนักแนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ถ้าคุณลดน้ำหนักไม่ได้ ก็ไม่ใช่เพราะวิธีการหรือเทคโนโลยีของสถาบัน(นั้นๆ)ไม่ดี แต่เป็นเพราะคุณควบคุมพฤติกรรมของคุณไม่ดีต่างหาก ทางเราไม่คืนเงิน !




“เห็นแล้วนะคะ ลดน้ำหนักไม่ยากอย่างที่คิด (แต่ยากที่จะทำ) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่ได้ เริ่มตั้งวันนี้ คุณก็ดูดีได้ใน 1 วันแล้วค่ะ”