วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โรคหัวใจ(ขาดคำชม)





เด็กๆสมัยนี้เป็นโรคหัวใจกันมากขึ้นนะคะ ไม่ใช่โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือด แต่เป็นโรคหัวใจ(ขาดคำชม) .......ลองสังเกตุดูนะคะว่าเด็กๆในบ้านมีอาการคล้ายกันอย่างนี้หรือเปล่า 

                                                               

ครอบครัวหนึ่งมาปรึกษาเนื่องจาก ลูกสาวที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น อยู่ๆ ก็มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก มือจีบเกร็ง คุณแม่กังวลกลัวว่าลูกสาวคนเดียวจะเป็นโรคหัวใจ จึงรีบพามาตรวจหาสาเหตุ หลังจากไปพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย กลับไม่พบความผิดปกติทางกาย แต่คุณหมอได้สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุจึงส่งให้มาปรึกษา......เพื่อหาสาเหตุทางใจ(หรือช่วยมองหาแผลที่มองไม่เห็น)

ครอบครัวนี้มีกันสามคน พ่อ แม่ ลูก คุณพ่อทำงานบริษัท คุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณแม่จึงมีเวลาใกล้ชิดกับลูกสาวคนเดียวมาก ความใกล้ชิดทำให้คุณลูกสาวซึมซาบความคาดหวังของคุณแม่ไว้ทั้งหมด หนูคือที่สุดของแม่กับพ่อ หนูคือความหวังของแม่กับพ่อ พ่อกับแม่ทำทุกอย่างเพื่อหนูขอแค่ให้หนูตั้งใจเรียน ลูกสาวก็พยายามตั้งใจเรียนเป็นเด็กดีของพ่อกับแม่มาตลอด เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องปกติกับหลายๆครอบครัว




ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผลการสอบปลายภาคออก ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ ลูกสาวรู้สึกว่าตัวเองแย่มาก ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เสียใจ ไม่กล้าบอกพ่อกับแม่ถึงความกดดันที่เกิดขึ้น กลัวเรื่องของตนจะทำให้พ่อกับแม่กังวล เลยเลือกที่จะเก็บไว้คนเดียว ความไม่สบายใจเลยออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดหัว อาเจียน แน่นหน้าอก ใจสั่น ปวดท้อง ที่สื่อออกมาเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ..... 


(ทั้งๆที่ พ่อกับแม่บอกว่าไม่คาดหวัง มีงานวิจัยออกมาว่าเราสื่อสารด้วยคำพูดแค่ประมาณ1/3 อีก2/3 เราสื่อสารผ่านทางการกระทำ ท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตตัวเองไปด้วยนะคะว่าสื่อสารกับลูกไปทางเดียวกับคำพูดรึเปล่า


                                                          
ที่ผ่านมา ฉันสังเกตว่า คุณพ่อ คุณแม่มักจะมีงานที่ถนัดอย่างนึง(เหมือนๆกัน) คือ “การจับผิดลูก ถ้าลูกทำอะไรไม่ดีพ่อกับแม่ก็มักเป็นห่วงอย่างมาก จะคอยจ้ำจี้ บ่น แต่เรื่องไม่ดี ที่อยากให้แก้ไข แต่เมื่อไหร่ที่เด็กๆทำดี พ่อกับแม่ก็มักสบายใจเลยไม่พูดอะไร แต่ในมุมมองของเด็กๆ ทำให้รู้สึกว่า พวกเขาทำดีเสมอตัว แต่ทำไม่ดีเท่ากับแย่มาก ผิดมาก ถึงโดนบ่นซ้ำๆ 


มุมมองพ่อแม่   

“บ่นมาก + สอนมาก = รักมาก + ห่วงมาก ”

มุมมองเด็กๆ      

“บ่นมาก + สอนมาก = พ่อแม่ไม่ไว้ใจ /เรามันห่วย/เบื่อ/ไม่อยากฟัง/ไม่มีใคร  เข้าใจ/เหมือนอยู่คนเดียวบนโลก”


คุณพ่อ คุณแม่อาจเริ่มกุมขมับแล้วจะให้ทำอย่างไรหละ

จากทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์ เชื่อว่า การที่เราอยากให้พฤติกรรมไหนอยู่นานๆ(ส่วนใหญ่ก็มักเป็นพฤติกรรมที่ดี เช่น อ่านหนังสือ พูดเพราะ) ก็ต้องให้แรงเสริมทางบวก(Positive reinforcement) โดยเฉพาะ คำชม (หรืออาจเป็นรางวัลเล็กๆก็ได้) เพื่อให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมไหนที่ทำแล้วคนที่เขารัก(พ่อ/ แม่ ) มีความสุข เขาก็อยากทำมากขึ้นไปอีก 



การชมด้วย I-message จากผลการศึกษาพบว่าการบอกความรู้สึก ความต้องการของเรา จะมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่าการตำหนิ หรือการสั่ง

รูปแบบการชม

....ฉัน(แม่/พ่อ)....รู้สึก(ดีใจ ชอบ ชื่นชม)....ที่คุณ(ลูก)....ทำ(พฤติกรรมที่เราชื่มชม เช่น เก็บที่นอนเอง อ่านหนังสือ/ควรระบุพฤติกรรมนั้นๆให้ชัดเจน)

และ....ฉัน(แม่/พ่อ)....รู้สึก(ดีใจ ชอบ ชื่นชม)มากกว่านี้อีก....ถ้าคุณ(ลูก/หนู)....ทำ(พฤติกรรมที่อยากให้ทำมากขึ้นหรืออยากให้เปลี่ยนแปลง) 

เช่น
  •  แม่รู้สึกดีใจมากที่วันนี้ลูกอาบน้ำเองโดยที่แม่ไม่ต้องสั่ง และแม่จะดีใจมากกว่านี้อีกถ้าลูกตื่นเองได้โดยไม่ต้องให้แม่ปลุก 
  • พ่อชื่นชมที่หนูขยันอ่านหนังสือ แต่พ่อว่า หนูจะเก่งขึ้นกว่านี้ถ้าหนูเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์น้อยลง 

คำชม จากพ่อกับแม่ ยังไปเพิ่มความภาคภูมิใจ(Self esteem) ให้เด็กอย่างง่าย ๆ และไม่ต้องลงทุนเข้าโปรแกรมปลุกยักษ์ด้วย สิ่งที่พ่อแม่สมัยใหม่จะทำให้ลูกๆได้คือ 

หันมาจับถูกลูกๆกันเถอะ” 





      "ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องกินยา คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม มาฝึกชมลูกๆกันเถอะค่ะ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น