วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“ฉันไม่อยากเศร้า”

เศร้า.เบื่อ.เซ็ง..อารมณ์ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติเมื่อเจอกับเรื่องของการสูญเสีย อาจเป็นผลจากความผิดหวังเรื่องการงานไม่ได้ตามที่หวัง สูญเสียเงินทอง พลัดพรากจากคนที่รัก มีปัญหาสุขภาพ มีชีวิตที่แก้ไม่ตก




 ภาวะอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราว แต่เมื่อใดที่เริ่มเป็นติดต่อกันเรื้อรังยาวนา
(มากกว่า 2 สัปดาห์)ร่วมกับอาการ
  •  นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ 
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงหรือทานมากกว่าปกติ 
  •  รู้สึกกังวล กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย 
  •  เบื่องานอดิเรกที่เคยชอบทำ 
  • รู้สึกเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง 
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ล้มเหลว 
  • ไม่มีสมาธิ หลงๆลืมๆ 
  • มีอาการป่วยทางกายเรื้อรัง หาสาเหตุไม่พบ 
  •  คิดอยากตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย 

                                               
                                                 อาจกลายเป็น..โรคซึมเศร้า

อาจแบ่งได้เป็น 

  • ภาวะซึมเศร้าชั่วคราว (Adjustment disorder)เป็นหลังจากเผชิญกับเรื่องที่ทำให้เสียใจภายใน 3 เดือน ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ 
  • ภาวะซึมเศร้ารุนแรง(Major depressive disorder)มีอาการดังกล่าวเกิน 5 อาการ ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง รู้สึกผิดอย่างมาก เสียหน้าที่การงาน
  • ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง(Dysthymia)มีความรู้สึกเบื่อ เซ็งติดต่อกันหลายปี (มากกว่า 2 ปี) ไม่มีช่วงที่มีความสุขเลย ยังพอฝืนไปทำงานได้



ฉันเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร... 

แต่ละคนมีปัจจัยที่ทำให้มีแนวโน้มที่จะป่วยได้ต่างกันเช่น

-ผลจากพันธุกรรมในครอบครัว ที่มีโรคความผิดปกติทางอารมณ์

ทำให้มีแนวโน้มเกิดความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองได้ง่าย

· Serotonin:เบื่ออาหารรู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด อยากฆ่าตัวตาย

· Dopamine:ไม่มีความสุข ไม่มีสมาธิ เบื่องานที่เคยชอบ

· Norepinephrine: ไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย

-โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไร้ท่อ โรคเรื้อรัง

-การได้รับ/ภาวะถอนจากสารหรือยาบางประเภท เช่น สุรา ยาลดน้ำหนัก

-บุคลิกภาพ การปรับตัวที่เป็นปัญหา เช่น ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง มองโลกในแง่ลบ




และอาจมีปัจจัยมากระตุ้นแตกต่างกัน เช่น อกหัก ตกงาน เสียอวัยวะ พลัดพราก สอบตก ป่วย เป็นต้น

" หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดจาก 3 องค์ประกอบทั้ง กาย –จิต –สังคม "




เราดูแลรักษากันอย่างไร... การรักษาเน้นการฟื้นฟูปรับทั้ง กาย-จิต-สังคม โดย

การกินยา :ยาจะมีผลไปปรับสมดุลเคมีในสมองที่ลดลงจากภาวะซึมเศร้า เช่น กลุ่มยาต้านเศร้า ยาคลายกังวลเช่น SSRI ,SNRI,TCA เป็นต้น โดยปกติยาจะเห็นผลประมาณสัปดาห์ที่1-2 หลังจากเริ่มยาและแพทย์มักแนะนำให้กินต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ 
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปากแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อาการดังกล่าวมักเกิดช่วงแรกของการเริ่มยา 



การปรับความคิด : ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากความคิด ซึ่งคนเรามีแนวโน้มจะทุกข์เพราะคิดผิด เช่น                เรื่องดีๆที่เกิดเป็นเรื่องบังเอิญ
                             ฉันมันโชคร้าย ต้องเกิดเรื่องแย่กับฉันแน่ๆ
                             ไม่มีใครช่วยฉันได้ ฉันต้องจัดการมันคนเดียว
                             ทุกอย่างหมดสิ้นแล้ว หมดหวังแล้ว เป็นต้น

อาจเริ่มจากการฝึกสติ รู้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้น ตรวจสอบหาความถูกต้องของความคิด และพิจารณาดูว่าความคิดนั้นมีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ปล่อยมันไปบ้าง ให้อภัยกับความผิดพลาด ให้โอกาสตัวเองกลับมาเริ่มต้นใหม่ 


เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม :อาจให้เวลากับตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้รู้สึกเจ็บทรมาน อาจใช้เวลาไปพักผ่อน ออกกำลังกาย เลี้ยงสัตว์ หาที่ปรึกษาที่รู้สึกไว้ใจ เบี่ยงเบนจากความคิดสู่กิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น ไปวัด/โบสถ์ เป็นต้น 





ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

“ความรู้สึกเศร้าแบบนี้ เดี๋ยวก็หายไปเอง”
ความจริงก็อาจใช่ถ้าเป็นแค่ภาวะซึมเศร้าแต่เมื่อใดที่อาการเป็นรุนแรง เรื้อรัง อาจเป็นโรคซึมเศร้าที่ต้องการการดูแลมากขึ้น

 “อย่าไปพูดเรื่องแย่ๆ สิเดี๋ยวจะแย่กันไปใหญ่
” ความจริงการให้โอกาสได้พูดคุยเพื่อระบายความไม่สบายใจ จะช่วยให้อาการดีขึ้น

“ฉันไม่เป็นโรคแค่เศร้าเอง ไม่ต้องกินยาก็ได้”
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แสดงว่าคุณมีอาการรุนแรงจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การกินยาจะช่วยให้คุณดีขึ้น ร่วมกับการปรับความคิดและพฤติกรรม

“ฉันเป็นบ้ารึเปล่า” โรคนี้ไม่ใช่โรคจิต เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นบ้า




                                                 




“ ประมาณกันว่าใน 100 คนพบคนที่เป็นโรคซึมเศร้าถึง 12-20 คน ”


    ดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลซึมเศร้ากันเถอะ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 มีนาคม 2559 เวลา 13:08

    หนูกินยามาร่วมสิบปีแล้ว หนูไม่มีอาการเศร้าแล้ว มีแค่เครียดเรื่องงานเรื่องชีวิตเป็นบางที แต่คุณหมอก็ยังให้กินยาอยู่ บางวันลืมกินแต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็เลยงงว่ากินทำไมคะ

    ตอบลบ