วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หัวใจอ่อน(Panic disorder)

“ คุณเคยรู้สึกหวาดผวาหรือตื่นตระหนก เมื่อมีอาการวิตกกังวล ตกใจกลัวหรือไม่สบายใจขึ้นมาแบบทันทีทันใด ในสถานการณ์ที่คนทั่วไปจะไม่รู้สึกแบบนั้นมากกว่า 1 ครั้ง และอาการหวาดผวารุนแรงที่สุดใน 10 นาทีหรือไม่ ”



คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่....

  • มีอาการกลัวไม่ทราบสาเหตุ 
  • ร่วมกับ ใจสั่น หัวใจเต้นแรง 
  • อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทัน 
  • ท้องไส้ปั่นป่วน จุกแน่น 
  • ขาสั่น/มือสั่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก รู้สึกวูบ 
  • ปวดมึนศีรษะ ตัวโคลงเคลง 
  • กลัวว่าตัวเองจะตาย กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนจะเป็นบ้า

                                                 
อาการเกิดขึ้นรุนแรงภายในไม่กี่นาที และอาจนานเป็นชั่วโมง อาการเหล่านี้เกิดโดยไม่รู้ล่วงหน้า 
ไม่เลือกเวลาหรือสถานที่ แม้เมื่ออาการจะสงบแล้ว ก็ยังทำให้กังวลว่าจะเกิดอาการขึ้นมาอีก หลายคนกลัวว่าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ไปพบแพทย์ตรวจแต่ไม่เจอสาเหตุ ก็ยิ่งทำให้กังวลมากขึ้น คุณอาจเข้าข่ายเป็น....โรคตื่นตระหนก (หัวใจอ่อน,ประสาทลงหัวใจ,Acute anxiety, Paroxysmal anxiety disorder)




โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร....
  • โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล 
  • มีการศึกษาที่สนับสนุนว่าเป็นผลจากการทำงานที่มากขึ้นของระบบประสาทอัตโนมัติ มีการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาทในสมอง (กลุ่มนอร์อิพิเนพฟิน ) ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นให้มีการตื่นตัวอย่างรวดเร็ว รุนแรง คล้ายกับการเหยียบคันเร่งรถยนต์ 

  • ความผิดปกตินี้อาจเป็นผลจากปัจจัยทางพันธุกรรม ที่ทำให้สมองตื่นตัวไวกว่าปกติ
  • หรือเกิดจากกลไกทางจิตใจที่เผชิญกับความรู้สึกกังวลใจ กลัว ที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ 
  • หรืออาจเป็นผลจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ชา/กาแฟ/ยากระตุ้นประสาท บุหรี่ หรือเป็นผลจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น ที่เมื่อรักษาที่ต้นเหตุอาการดังกล่าวก็จะดีขึ้น 

มีคนอื่นเป็นกันอีกมั้ย....

  • ประมาณกันว่าทุกๆ 100 คนจะมีโอกาสที่พบโรคนี้ 1-4 คน
  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 
  • โดยส่วนใหญ่อาการมักจะเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 
  • อาการมักเป็นอยู่เรื้อรัง เป็นๆหายๆ 
  • ประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่มีอาการที่ได้รับการรักษา ไม่มีอาการกลับเป็นซ้ำ ประมาณร้อยละ10-20 ที่ยังคงมีอาการ ซึ่งตัวทำนายถึงผลการรักษาที่ดีที่สุดคือระยะของการป่วยก่อนเข้ามารับการรักษา กล่าวคือ ยิ่งมารับการรักษาได้เร็วเพียงใด ผลการรักษาก็จะยิ่งดีเท่านั้น

เรารักษาโรคนี้กันได้อย่างไร....เนื่องจากโรคนี้เป็นการทำงานผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง การรักษาด้วยยาจึงมีประสิทธิภาพดี ร่วมกับการฝึกผ่อนคลาย และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการกลับเป็นโรคซ้ำ

*การเริ่มให้ยา และหยุดยาควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์*

การฝึกผ่อนคลายด้วยการควบคุมการหายใจ..การฝึกผ่อนคลายเหมือนเป็นการฝึกให้ร่ายกายเหยียบเบรคเมื่อมีอาการ

-หาบริเวณที่สงบ อาจนั่งหรือนอนราบ ให้รู้สึกสบาย

-ประสานมือสองข้างที่หน้าท้อง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แขน ไหล่ ขา ให้รู้สึกสบาย

-สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ตามสังเกตลมหายใจ หายใจเข้าให้ท้องพองขยายขึ้น มือทั้งสองถูกยกขึ้น




-เมื่อสูดหายใจเข้าเต็มที่นับค้างไว้ช้าๆ 1-2-3

-ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ตามสังเกตลมหายใจออก หน้าท้องจะแฟบลง มือทั้งสองข้างลดต่ำลง

-เมื่อหายใจออก นับค้างไว้ในใจช้าๆ 1-2-3

-ทำสลับหายใจเข้า-ออก ประมาณ 10-15 ครั้ง

-ควรฝึกอย่างสม่ำเสมอ อาจทำตอนเช้าหรือก่อนเข้านอน

คำถามที่มักพบได้บ่อย...

โรคนี้จะตายมั้ย..โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้ทรมาน จึงควรรีบรักษา

ฉันเป็นบ้าหรือเปล่า..โรคนี้อยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล ไม่ใช่เป็นบ้า

กินยาแล้วจะติดมั้ย...ยามีผลช่วยปรับสารเคมีในร่างกายให้อยู่ในสมดุล เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จะค่อยๆลดยาลง ดังนั้นไม่ควรหยุดหรือปรับลดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการกำเริบ ซึ่งทำให้คิดว่าติดยา

ใช้สุราลดอาการได้มั้ย..สุราช่วยลดอาการได้ชั่วคราว แต่มีผลเสียระยะยาว และเมื่อติดแล้ว อาการถอนจะรุนแรง

ไม่ต้องกลัวนะคะ ไม่เคยมีใครตายด้วยโรคนี้ค่ะ

กลัว (Fear)


คุณเคยกลัวอะไรกันบ้างมั้ย


ความกลัวมีหลายแบบ

รู้ชัดเจนว่ากลัวอะไร

ทั้งที่เฉพาะเจาะจง ระบุได้ เช่น กลัวสัตว์บางชนิด ตุ๊กแก งู แมลงสาป แมงมุม เสือ กิ้งก่า ปลาไหล
  กลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ กลัวที่สูง กลัวที่แคบ กลัวอุโมงค์ ฯลฯ (ทางการแพทย์อาจเรียกว่ากลัวแบบ Phobia)




หรือ นามธรรม เช่น กลัวถูกทิ้ง กลัวอับอาย กลัวเสียชื่อเสียง กลัวเหงา กลัวการอยู่คนเดียว ฯลฯ สารพัดที่จะกลัว



- กลัวอะไรไม่รู้ รู้แต่ว่ามันกังวล ใจคอไม่ดี (ทางการแพทย์อาจเรียกว่ากลัวแบบ Anxiety หรือพวกวิตกกังวล )


“คนขี้กังวลเหมือนเป็นคนที่ชอบหยิบยืมความทุกข์ในอนาคตมาให้ตัวเอง”

ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต มีไว้เหมือนเป็นสัญญาณ เพื่อเตือนเราให้หลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอันตราย ความกลัวต่างๆมักเป็นจากประสบการณ์การเรียนรู้ในวัยเด็ก หรือพบเห็นทั้งตั้งใจ ไม่ตั้งใจ สารพัดเหตุการณ์ที่เราต้องเจอตั้งแต่เด็กจนโต

  • อาจเป็นกฏในบ้าน เช่น แม่ไม่ชอบความสกปรก ทำอะไรเลอะเทอะโดนทุกที ห้ามกลับบ้านดึก โดนด่าเละ
  • อาจเป็นคำเตือน เช่น อย่าเข้าใกล้แมงสาปนะ มันสกปรก ตั้งใจเรียนนะเดี๋ยวพ่อแม่ไม่อยู่จะได้ดูแลตัวเองได้
  • อาจเป็นคำขู่ เช่น อย่าร้องนะเดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ อย่าดื้อนะเดี๋ยวแม่ไม่รัก
  • อาจเป็นประสบการ์ทางอ้อม เช่น เห็นข่าวนักเรียนตีกันบนรถเมล์ ข่าวคนโดนข่มขืนในที่เปลี่ยว เลยไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว
  • อาจเป็นประสบการ์ตรง เช่น โดนสุนัขกัด เห็นคนถูกรถชนต่อหน้า โดนจับฉีดยาตอนเด็กๆ เห็นพ่อทำร้ายตบตีแม่
อารมณ์พวกนี้ถูกฝังไปในสมองส่วนลึก ในส่วนที่สัมพันธ์กับการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่าค่อยๆสะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกทีละเล็กทีละน้อย จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ความกลัวต่างๆเหล่านี้มักจะมาเป็นอัตโนมัติ ให้เราตื่นตัว เพื่อจะหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆที่อาจเป็นอันตรายต่อการมีชีวิตอยู่ของเรา บางครั้งก็ดูสมเหตุสมเหตุ บางครั้งก็ดูไร้สาระเสียเหลือเกิน



“ การเป็นคนที่วิตกกังวลกับทุกเรื่องตลอดเวลา นับเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานของร่างกาย ต้องใช้ความอดทนอย่างมากกับการอยู่กับความหวาดกลัว ชีวิตขาดความสุข ความวิตกกังวลไม่ได้ให้ผลดีกับคนเราเลย นอกจากจะเพิ่มความเครียด และบีบคั้นตัวเราเองยิ่งขึ้น”

กลุ่มโรควิตกกังวลเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชที่มีความชุกมากที่สุด ผู้ป่วยมักมาด้วย อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มือสั่น พูดติดอ่าง นอนไม่หลับ ฝันร้าย กระสับกระส่าย ปั่นป่วนในท้อง เวียนหัว อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้

- Specific phobia กลัวสิ่งที่รู้แน่แก่ใจ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไปเผชิญหน้ากับมัน ถ้าเจอกันเมื่อไหร่มีเรื่องทุกที เช่น ไม่กล้าอยู่ในลิฟท์ กลัวที่สูง กลัวเลือดเห็นแล้วลมจับ



- Social phobia กลัวการพูดหรือแสดงอะไร ต่อหน้าสาธารณะ กลัวทำอะไรเปิ่นๆ กลัวทำผิดพลาด พูดตะกุกตะกัก เหงื่อแตกพลั่ก ยิ่งคิดว่าคนอื่นต้องหัวเราะเราแน่ ยิ่งกลัวมากขึ้นไปอีก



- Generalized anxiety กลัวมันได้ทุกเรื่อง เรื่องสุขภาพ เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องพ่อ แม่ สารพัดจะกังวล คิดล่วงหน้าไว้หลายขั้นไม่ร้จะเกิดไม่เกิดแต่ทุกข์ไปแล้วล่วงหน้า รู้สึกเหมือนแบกอะไรไว้ที่บ่าสองข้าง คิดจนปวดหัว



มีใครมีอาการแบบนี้กันบ้างมั้ยคะ ถ้าเป็นมากๆ จนเสียหน้าที่การงาน เสียความสุขในชีวิตไป อาจเป็นความกลัวจนเป็นโรคแล้วอย่าลืมไปปรึกษาแพทย์ เพื่อช่วยหาทางรักษานะคะ

หนทางกำจัดความกลัว

- รู้ให้ชัด กลัวอะไร และจัดการ เปลี่ยนความคิดพิชิตความกลัว ทำความเข้าใจกับตัวเอง ว่าแท้ที่จริงเรากลัวอะไร มีคนไข้หลายคนมาหาด้วยอาการกลัวการพูดในที่ประชุม จนทำให้งานไม่ก้าวหน้าจะพูดทีไรก็ตะกุกตะกัก แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เขากลัวกลับไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นเสียงตัวเองที่จะคอยวิจารณ์ตัวเองเมื่อทำผิด ถ้าพลาดแปลว่าแย่มาก เป็นคนไม่ได้เรื่อง ทำให้เขากลัวการทำผิดพลาด เมื่อรู้ชัดเจนถึงสาเหตุความคิดที่บิดเบือน ก็จัดการที่ความคิดนั้นๆ เช่นเปลี่ยนเป็นเสียงให้กำลังใจตัวเอง ทุกคนชื่นชมฉัน ฉันทำได้ เอาความมั่นใจกลับคืนมา

- รู้ให้จริง กลัวไปทำไม มีประโยชน์อะไร บางอย่างก็สมควรที่จะกลัว เช่นกลัวการสอบตก เพราะต้องซ้ำชั้น ทำให้ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น แต่บางอย่างที่เรากลัวเมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นว่าไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่ง รู้สึกกลัวการไปในที่สาธารณะคนเดียว ไม่กล้าไปตลาด กลัวไม่มีคนช่วย ถ้าตัวเองเป็นอะไรไป ทั้งๆที่สุขภาพแข็งแรงดี เมื่อกลับมาพิจารณาต้นเหตุความคิดที่ทำให้กลัวแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ความคิดนั้นกลับสร้างความกังวลจนเกิดผลเสียตามมามากมาย เราก็จะละความคิดนั้นๆไปได้ง่ายมากขึ้น

- ค่อยๆเผชิญความกลัว ทีละนิด เริ่มการเผชิญหน้าสิ่งที่เรากลัว เพียงแค่ใช้การจินตนาการก่อน แล้วค่อยๆสัมผัสกับของจริงทีละนิดๆ

อาจเขียนสถานการณ์ที่เรากลัวไล่ลำดับ จากน้อยไปมาก เช่น

1. แค่คิดว่ามีตุ๊กแกในห้องก็สยองแล้ว

2. เห็นตุ๊กแกอยู่บนผนังบ้านด้านนอก

3. เห็นตุ๊กแกในห้อง

4. ให้จับตุ๊กแก

ก็ค่อยๆเผชิญหน้ากับมันทีละด่านๆ เหมือนกับการเล่นเกมส์ ช่วงแรกอาจมีตัวช่วยเช่นให้คนอยู่เป็นเพื่อนในการเริ่มด่านใหม่ เมื่อค่อยๆผ่านทีละด่าน ร่างกายก็จะเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ได้ข้อสมมติฐานใหม่ ว่าสิ่งที่เราคิ ดเรากลัว อยู่เดิม มันไม่จริงเอาเสียเลย ความกลัวก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป

“ ความกลัวนั้นมักเป็นกรงขังที่ตีกรอบผู้คนให้ยอมทนอยู่กับสภาพเดิม ๆ โดยไม่คิดที่จะเผชิญสิ่งท้าทายหรือความยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันมีผลดีต่อตัวเอง ไม่ใช่การหนีสิ่งที่เรากลัว การหันหน้ามาเผชิญกับมันต่างหาก คือสิ่งที่ควรทำ เพราะจะทำให้เราหายกลัว เมื่อนั้นมันจะไม่มีพิษสงอีกต่อไป และทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง”

                                                                                                                                     พระไพศาล วิสาโล



วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ย้ำคิดย้ำทำ


หญิงสาวอายุ 20 ต้นๆรายหนึ่งมาพบฉันเนื่องจากเธอไปเข้าห้องน้ำที่มีเลือดประจำเดือนของคนอื่นเปื้อนอยู่ จากนั้นเธอเริ่มกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อเอดส์หรือไม่ เธอเริ่มกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ไปหาหมอตรวจหลายที่ก็ไม่พบ แต่เธอก็ยังกังวลคิดว่าหมออาจตรวจผิดพลาด เริ่มไม่มีความสุขในชีวิต ถามใครใครก็หาว่าไร้สาระ แต่เธอกังวลนี่

 

ชายหนุ่มวัย 20 กลางๆ มาพบฉันเนื่องจากเขาหมกมุ่นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลขมานานหลายปี เห็นตัวเลขแล้วรู้สึกว่าตนอาจอ่านข้าม ไม่ครบ ต้องอ่านซ้ำๆ เขาพยายามอยู่กับมันเพราะคิดว่าอาจเป็นเรื่องปกติของคนรอบคอบ ต่อมาเริ่มลามไปถึงเรื่องความปลอดภัย ออกจากห้องทีไร เขามักไม่มั่นใจว่าล๊อกประตูหรือยัง ต้องกลับไปเช็คซ้ำๆ จนเขาเริ่มรู้สึกว่ามันรบกวนชีวิตมากเกินไปแล้ว



หญิงสาวอีกรายหนึ่ง ทนกับความรู้สึกแย่ของตนมานานหลายปี ที่เมื่อเห็นศาลพระภูมิ จะมีความคิดในทางไม่ดีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมอ เธอต้องพยายามสวดมนต์ขอโทษอยู่ในใจ หนำซ้ำยังกังวลตลอดเวลาว่ามือไม่สะอาด เธอต้องคอยล้างมือซ้ำๆเพื่อความสบายใจของเธอเอง แต่ที่ทำไปก็ช่วยลดความกังวลใจของเธอไม่ได้มาก เธอจึงอยากหาคนช่วยจัดการเรื่องนี้

 

หญิงสาววัยกลางคนคนหนึ่ง เธอรู้สึกรังเกียจตัวเอง ที่มีความคิดไม่ดี เพราะเธอมักจะเผลอมองเป้ากางเกงผู้ชายอยู่ตลอดเวลา เธอรู้ว่ามันไม่ดี แต่ห้ามไม่ได้ เธอต้องขอโทษอยู่ในใจซ้ำๆ จนเริ่มรู้สึกทรมาน

คุณเคยบ้างมั้ย ที่คิดอะไรก็ไม่รู้ ไร้สาระแล้วมันก็ไม่สามารถหยุดความคิดได้ เล่าให้ใครฟังก็หาว่าเป็นอะไรเนี่ย ย้ำคิดย้ำทำเสียจริง แหมเราก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนี้นะแต่มันห้ามคิดไม่ได้นี่ งั้นฉันไปทำอะไรดีกว่าให้มันหายกังวล เคยกันบ้างมั้ยที่.....

...รู้สึกเหมือนลืมปิดประตูต้องกลับไปเช็ค

...รู้สึกว่าตัวเองล้างมือไม่สะอาด ต้องกลับไปล้างอีก

...คิดลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในใจ ขอโทษสวดมนต์ในใจเพื่อลดความรู้สึกผิด

...กลัวเป็นโรคบางอย่าง ไปหาหมอแล้ว แต่ก็ยังไม่แล้วใจ



พฤติกรรมเหล่านี้เป็นได้ตามปกติหรือเป็นโรคที่ต้องรักษากันนะ

โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่า ความคิดตรวจสอบเหล่านั้นเป็นแค่เพื่อความรอบคอบ ปลอดภัย สะอาด ลดความรู้สึกผิด จึงไม่ค่อยได้มาพบแพทย์ แต่ในความจริงพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ ” เมื่อ

  • มีความคิด มโนภาพ หรือความต้องการที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บางครั้งก็รู้สึกว่าไร้สาระ เกินกว่าที่ควรจะเป็น พยายามลืม กดไว้ หรือพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความคิดที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่เป็นผล 
  • พยายามทำพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อช่วยลดความกังวลที่เกิดขึ้น เช่น ล้างมือ สวดมนต์ ทวนซ้ำๆ 
  • ความคิด พฤติกรรม เหล่านั้นทำให้ทรมาน เซ็ง เพราะมันรบกวนเวลาชีวิตไป(อย่างน้อยก็มากกว่า 1ชั่วโมงต่อวัน) ทำให้มีผลต่อการดำรงชีวิต เช่น กว่าจะออกจากบ้านเช็คประตูไม่ต่ำกว่า 10 รอบ จนไปทำงานสาย ตรวจทานข้อสอบซ้ำๆ จนทำไม่ทัน เดินนับก้าว จนดูแปลก 

โรคย้ำคิดย้ำทำ ≠ Perfectionist


คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ อาจเป็นคน perfectionist อยู่เดิม หรือเป็นคนที่ทำอะไรละเอียดมากกกกก มักมีกฎระเบียบอยู่ในใจ ใครผิดกฎ(ของตน)มักรู้สึกขัดใจ มองคนอื่นเหมือนพวกไร้ระเบียบ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของมนุษย์ perfectionist นี้เจ้าตัวมักมองว่าสมเหตุสมผล เป็นสิ่งที่สมควรทำให้ดี คิดให้รอบคอบ 

แต่ในผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ มักรู้สึกว่าความคิด การกระทำของตนบางครั้งก็ไร้สาระเหลือเกิน แต่ห้ามไม่ได้ไม่งั้นก็ทุกข์มากกับความคิดนั้นๆ 



จะเห็นว่าไม่เหมือนกันนะคะ อีกอย่าง มนุษย์ perfectionist นั้นมักมีลักษณะดังกล่าวที่ค่อยๆพัฒนามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นนิสัย แต่อาการย้ำคิดย้ำทำมักเกิดมาในภายหลังจนเจ้าตัวรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง อยากจะกำจัดความคิด พฤติกรรมแปลกปลอมนี้ออกไป
ถ้าเริ่มเป็นจนก่อให้เกิดความทุกข์ ทรมาน อาจต้องหาตัวช่วยนะคะ เพราะอาจเป็นโรคที่ต้องการการรักษา โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นบ้า ดังนั้นไม่ต้องอายหรือกลัวที่จะไปพบแพทย์นะคะ 
 

"  ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือนผู้ป่วยพาร์คินสันที่มีอาการสั่นของมือเพราะเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ส่วนโรคย้ำคิดย้ำทำก็คล้ายกันที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ไม่สามารถควบคุม ยับยั้งความคิด พฤติกรรมได้ดั่งใจ ดังนั้นถ้าไม่รีบรักษาอาการก็จะเป็นหนักขึ้น รักษายากขึ้นด้วยนะคะ ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวรีบมาปรึกษาแพทย์จะดีกว่า "

ปล. แพทย์จะช่วยคุณอย่างไร
  • เริ่มตั้งแต่ให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง 
  • จากนั้นอาจเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยาที่ไปปรับสมดุลสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ
  • ทำจิตบำบัด เช่น การปรับความคิดและพฤติกรรม 
*การเลือกการรักษาขึ้นกับอาการ และผู้ป่วยเป็นสำคัญ*

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

First aid for Broken heart

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยอกหัก(First aid for Broken heart) 


“อกหัก” เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย พบได้ตั้งแต่วัยที่เริ่มมีความรัก(อนุบาลถึงผู้สูงวัย) อุบัติการณ์พบได้บ่อยมาก ถึงมากที่สุด (ให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่เป็น) อาการและอาการแสดงที่พบ เป็นได้ตั้งแต่ เพิกเฉยไม่สนใจ โกรธ ซึมเศร้า ความคิดหมกมุ่น/กลับไปกลับมา ขอต่อรองคืนดี ประชดรักโดยใช้สารเสพติด(สุรา ฯลฯ) ทำร้ายตัวเอง หรือ อาจพบเป็นอาการทางกาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว รู้สึกแน่นหน้าอก ใจสั่น บางคนบอกว่ารู้สึกเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณเหมือนไม่มีตัวตน ตัวลอย ไม่มีสติ ฯลฯ.....

“คุณเคยมีอาการแบบนี้กันบ้างมั้ย หรือเคยพบคนใกล้ตัวที่มีอาการแบบนี้บ้างหรือเปล่า”



ระยะของอาการอกหัก

ช๊อก/ปฏิเสธความจริง : ตัวชา เบลอ งง มักเกิดในช่วงแรกหลังถูกปฏิเสธ ถูกบอกเลิก อาจเป็นแค่เสี้ยวนาที หรืออาจเป็นอยู่ได้นานหลายวัน
 
โกรธ : เพราะ.(เธอ).คนเดียว ไม่มี..(เธอ) ฉันคงไม่ต้องเป็นแบบนี้ ช่วงนี้ถ้าโกรธมาก แค้นมาก บางคนขาดสติถึงขนาดตามไปทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต 

ซึมเศร้า : กลับมาโทษตัวเอง มองตัวเองแย่ ฉันคงไม่ดีพอ ฉันมันไม่มีค่า บางคนเป็นหนักถึงขั้นเห็นตัวเองไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิต ตัดสินใจฆ่าตัวตาย 

ต่อรอง : ยื้อยุด ชักกะเย่อ ฉันขอโอกาส ฉันจะปรับปรุงตัวเอง ฉันยอมทุกอย่างแล้วเพียงแค่ได้มีเธอ 

ยอมรับ : มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลับมารักตัวเอง ปล่อยความหลังในอดีต ให้อภัย ใจเป็นสุข

ระยะอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นไม่ครบทุกระยะ หรืออาจเกิดขึ้นกลับไปกลับมาก็ได้

ความรุนแรงของอาการขึ้นกับ
  • ระดับความรักที่มีให้ รัก(เขา)มาก(แต่รักตัวเองน้อย) ก็เจ็บมาก 
  • ความคาดหวัง หวังมากก็เจ็บมาก 
  • ระยะเวลาที่ความรักก่อตัว (ความผูกพัน) ความทรงจำในอดีตมาก ย้อนกลับมาทำร้ายมาก 
  • สิ่งที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ เกิดปัญหาร้ายแรง(ทางความรู้สึกมาก) เห็นภาพบาดตาบาดใจ มือที่สาม โกหกหลอกลวง ทำร้ายร่างกาย ทำให้ท้องแล้วทิ้ง ฯลฯ แค้นมาก เจ็บมาก 
  • ความถี่ของการเกิดอาการ เกิดครั้งแรกภูมิต้านทานต่ำ เกิดซ้ำหลายครั้งเริ่มชินชา

ทำไมถึงรู้สึกเจ็บเมื่อโดนหักอก

รู้สึกเหมือนโดนทำร้าย (เห็นตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ) : ที่รู้สึกแบบนี้เพราะการโดนปฏิเสธ ก็เหมือนกับถูกทำลาย Self (เสีย Self  เสียหน้า เสียศักดิ์ศรี เหมือนตัวเองต่ำต้อย ไร้ตัวตน ไม่มีค่า ไม่มีราคา) ซึ่งทั้งหมดนี้มักเกิดจากความคิด การรับรู้การตีความ ของเราเอง (คิดเองเออเอง) และความคิดเหล่านี้ก็ยิ่งกลับมาทำร้ายเราซ้ำๆ
ความเป็นจริง มีเหตุผลล้านแปดที่ทำให้คนสองคนเลิกกัน ไม่ใช่เพราะเราไม่ดี

"อย่าตัดสินคุณค่าของตัวเองเพียงแค่เขาไม่รัก  เขาไม่ได้มีค่าพอที่จะมาตัดสินคุณค่าของชีวิตเรา"

รู้สึกเหมือนสูญเสียอะไรไป : ช่วงที่มีความรัก รู้สึกมีความสุข(อย่างมาก สารความสุขหลั่งมาท่วมท้น)  มีคนรัก มีคนดูแล มีคนเอาใจ เวลาสิ่งเหล่านี้หายไปอาการก็เหมือนคนติดยาเสพติด มีอาการที่เรียกว่า"ลงแดงความรัก" จะตายให้ได้
ความเป็นจริง  ไม่มีใครตายเพราะอกหัก(ถ้าไม่ใช่การฆ่าตัวตาย) และความเป็นจริง คุณไม่ได้เสียอะไรไป คุณยังหาความสุขได้จากอย่างอื่น การดูแลตัวเอง เอาใจ ตามใจตัวเอง ง่ายกว่าคาดหวังให้คนมาเอาใจ คุณยังดูแลตัวเองได้เหมือนเดิม 

"เราอาจเสียเวลา เสียเงิน เสียความรู้สึก เสียความบริสุทธิ์ เสีย...ฯลฯ......ไป แต่หลังจากนี้ทุกเวลา เงินทุกบาท ความรู้สึกทุกอย่าง ฯลฯ กลับมาเป็นของเรา เราจะไม่ยอมเสียให้ไปอีก"




“อกหัก” ก็เหมือนกับเกิดอุบัติเหตุ(ทางใจ) ทำให้เกิดบาดแผล(ทางใจ) อาจเป็นแค่แผลถลอก (เจ็บเล็กๆ) หรือบางคนก็อาจเป็นแผลฉกรรจ์ 

 
แผลทุกแผลมีวันหาย ถ้าดูแลให้ดี ซึ่งโดยปกติร่างกายมีกลไกในการสมานแผลของตัวเอง อาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือน (แผลโดยทั่วไปไม่ควรเจ็บนานเกิน 2 เดือน)


 "รักไม่ต้องการเวลา แต่เสียใจเพราะรักต้องการเวลานะคะ

"










วิธีการรักษาแผล(ใจ)เบื้องต้น

ล้างแผลให้สะอาด : ร้องไห้เสียให้พอ เก็บของที่จะทำให้คิดถึงความรัก(ที่ทำร้าย) ออกไปให้หมด ทั้งรูป จดหมาย เบอร์โทร facebook ฯลฯ

หายาดีๆมาทา : ออกไปหาสังคมอื่นๆที่ห่างหายไปนาน ครอบครัว(พ่อ แม่ พี่น้อง) เพื่อนๆ(ที่ยังรอคุณกลับไปร่วมก๊วน) พวกเขาพร้อมดูแลคุณเสมอ

หลีกเลี่ยงการไปถูกโดนแผลซ้ำๆ : บางคนถูกทำร้ายครั้งเดียวไม่พอ ยังพยายามติดต่อ เพื่อตอกย้ำความรู้สึกให้ตัวเองเจ็บซ้ำๆ แผลก็จะยิ่งหายช้า ทางที่ดี อย่าเพิ่งติดต่อในช่วงเวลารักษาแผลใจ
"ไม่มีใครทำร้ายเรา ได้เจ็บเท่า เราทำร้ายตัวเอง" หยุดดีดหนังสติกใส่ตัวเองได้แล้ว

ฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง :
หาอะไรอร่อยๆกิน ออกกำลังกายบ้าง(ระบายความโกรธออกไป) นอนพักเพียงพอ ลุกขึ้นมาแต่งหน้า/ แต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี อย่าหนีไปใช้ยาเสพติด (มันจะทำให้คุณดูแย่จริงๆ)

หากิจกรรมทำืื : ช่วงที่เกิดอาการอกหัก มักรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปช้า ควรหากิจกรรม ฟังเพลง เล่นดนตรี เรียนวาดรูป ช้อปปิ้ง ให้เวลาเดินเร็วขึ้น

พักใจ : ใจที่บอบช้ำ ต้องการเวลาเยียวยา อย่าเพิ่งหาใครมาดามหัวใจ เพียงเพื่อไม่อยากเหงา หรือประชดรัก เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น


"เสียใจ แต่ไม่แคร์"

ข้อดีของการกลับมาเป็นโสด

มีเวลาให้ตัวเองเต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องแบ่งอีกครึ่งชีวิตให้กับใคร กลับมารักตัวเองได้เต็มร้อย เอาใจตัวเองให้เต็มที่ ไม่ต้องคอยเอาใจใคร

มีโอกาสเต็มที่กับการได้เรียนรู้สิ่งๆใหม่ คนใหม่ๆ (คนมีคู่ไม่มีโอกาสนั้น) หาเพื่อนใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ ใช้ชีวิตนึงที่เกิดมาให้คุ้ม (แต่ไม่ใช่สำส่อนนะคะ)

มีเวลาดีๆ ที่จะใช้เวลาโสดๆ ฝึกที่จะอยู่กับตัวเอง รักตัวเอง เป็นเพื่อนกับตัวเอง อนาคตเมื่อเจอกับความเหงาจะได้หัวเราะกับความเหงาได้อย่างบ้าคลั่ง ทุกคนเกิดมาคนเดียว ตายคนเดียว ทุกสิ่งต้องมีการพรากจากไม่จากเป็นก็จากตาย ฝึกอยู่กับตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้

เป็นโอกาสอันดี ที่จะได้กลับมาทบทวน มองตัวเอง ที่ผ่านมาเรามีข้อดี ไม่ดีตรงไหน (บางครั้งอาจได้จากเหตุผลของการบอกเลิกนั่นแหละ) แทนที่จะโทษตัวเอง เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส มาทบทวนความเป็นจริง เอ! เราเจ้าอารมณ์จริงรึเปล่า ? เราเห็นแก่ตัวหรอ ? เรามันดูไม่มีอนาคต ? และใช้โอกาสนี้หาทางแก้ไข เปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเองใหม่ (ให้คนเสียดายเล่นดีกว่า) 



"โสดให้คนเสียดาย  ดีกว่าเป็นของตายให้เขาทำร้ายเล่น" 

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

มีชีวิตเหลืออีก 1 วันทำอะไรดี


มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ย 76 ปี คิดเป็นประมาณ 3900 สัปดาห์ 33,300 วัน (ยังเสียเวลาไปกับการนอนอีกถึง
1/3 ของเวลาทั้งหมด) ดังนั้นเราจะมีเวลาใช้ชีวิตจริงๆประมาณ 22,000 วัน เท่านั้นเอง



เคยคิดกันมั้ยว่า....เราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับอะไรบ้าง

.....บางคนหมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดในอดีต

.....บางคนกลัวอนาคตที่ยังไม่มาถึง

.....บางคนฝันถึงอนาคตที่จะมีความสุขถ้า.......ฯลฯ (มีบ้าน มีรถ ได้แต่งงาน ลูกเรียนจบ หมดหนี้ ผ่อนบ้านหมด ฯลฯ)

                                     


มีการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง ในเรื่องเล่าถึงประเทศ ประเทศหนึ่งที่มีนโยบายความมั่นคง มีกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ” คือ เด็กทุกคนที่เกิดมาจะได้รับวัคซีนชนิดหนึ่ง วัคซีนนี้จะมีผลออกฤทธิ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า (ซึ่งใน 1000 เข็ม จะออกฤทธ์เพียงเข็มเดียว โดยฉีดให้แบบสุ่ม) วัคซีนนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันประเทศ เพราะวัคซีนที่ว่านี้จะออกฤทธิ์ให้คน คนนั้นตาย ซึ่งการออกฤทธิ์ดังกล่าวทำให้ประชากรทุกคนตระหนักว่าพวกเขามีชีวิตเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนตั้งใจใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและตระหนักต่อ “คุณค่าของชีวิต” มากขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าจะได้รับสาส์นมรณะนี้หรือไม่ควรใช้เวลาในชีวิตให้มีค่า และมันจะมีความสำคัญมากขึ้นอีกใน 1 วันก่อนตาย เพราะก่อนหน้า 24 ชั่วโมงที่วัคซีนจะออกฤทธิ์จะมีเจ้าหน้าที่รัฐ มาบอกข่าวร้ายกับคุณว่า คุณมีเวลาชีวิตอีกแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น โดยจดหมายแจ้งตายนั้น เรียกว่า "อิคิงามิ"



คุณจะยังทำแบบเดิมอยู่มั้ย ถ้าคุณ(โชคดี)ได้มีโอกาสรู้ว่าคุณมีเวลาชีวิตอีก 1 วัน

.....คุณจะยังนั่งโกรธแค้น อิจฉา อาฆาต คนอื่นอยู่มั้ย

.....คุณจะมานั่งโทษตัวเอง ถึงเหตุการณ์ในอดีตอยู่หรือเปล่า

หรือคุณจะทำอะไรเมื่อเวลานั้นมาถึง

ในการ์ตูนเล่าถึงปฏิกิริยาของคนหลายคนหลังจากได้รับจดหมาย “อิคิงามิ” 



......บางคนยอมรับความตายที่เกิดขึ้น ใช้เวลา 1 วันไปกับสิ่งที่อยากทำในชีวิต ขอโทษกับความผิดพลาดที่ตนเคยทำ และจากไปอย่างสงบ

......บางคนปฏิเสธ(ความจริง) คิดว่าต้องมีการผิดพลาดเกิดขึ้น จดหมายนั้นไม่ใช่ของตน ใช้เวลา 1 วันไปกับการหาความจริง จากไปด้วยความสงสัย

......บางคนโกรธ ทำไมต้องเป็นฉัน ใช้เวลา 1 วันไปกับการแก้แค้น (ถ้าฉันตาย แกต้องตายด้วย ฉันไม่ยอมตายคนเดียวหรอก) จากไปด้วยความร่อนรุ่ม

......บางคนนั่งเศร้า เก็บตัว จนเวลาที่เหลือเพียง 1 วันหมดลง บางคนฆ่าตัวตายไปก่อนหนีความรู้สึกเศร้านั้น (ลดเวลาที่เหลือของชีวิตไปอีก)

คุณคิดว่าคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงวันนั้นของคุณ

.....มีหมอมาแจ้งว่าคุณเป็นมะเร็ง, คุณติดเชื้อเอดส์ ,คุณต้องตัดขา หรือข่าวร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดได้ทุกเวลา 




คุณเตรียมมือรับกับมันดีแล้วแค่ไหน ....

เรามักไม่รู้ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิต เราจึงมักใช้ชีวิตกลืนไปกับสังคม ตั้งใจเรียน ทำงาน หาเงิน มีครอบครัว (ใช้ชีวิต เหมือนหนูถีบจักร) แก่งแย่ง อิจฉา แข่งขัน จนหลงลืมวัตถุประสงค์หลักของการมีชีวิต 


                                    

หลายคนมาพบฉันด้วยความโกรธ โกรธสามี โกรธลูก โกรธเจ้านาย เมื่อฉันโยนคำถามกลับไปว่า “ถ้าคุณรู้ว่าชีวิตจะเหลือเวลาอีกแค่ 1 วัน คุณจะทำอะไร“ ไม่มีสักคนที่จะตอบฉันว่า “จะโกรธจนตาย” หลายคนบอกว่าคงอยู่กับครอบครัวให้มีความสุข ทำสิ่งที่อยากทำ ไปทำบุญ ฉันเลยลองถามกลับไปว่า  “อ้าวแล้วเรื่องที่เขาทำให้คุณโกรธหละ” ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า " ช่างมันเถอะ ถึงเวลานั้นก็ไม่สำคัญแล้ว ให้อภัยไปดีกว่า ทำตัวเองให้มีความสุขดีกว่า" 

สิ่งที่พวกเขาพูดกับฉันก็เหมือนเขาพูดกับตัวเองค่ะ   "ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขา"

ความโกรธ ความน้อยใจ ความอิจฉา ความกังวล ฯลฯ มันไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตเลย แล้วถ้าคุณไม่ตัดมันเสียวันนี้แล้วค้นหา และทำสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตคุณจริงๆก่อน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ถึงวันพรุ่งนี้ไว้ทำสิ่งนั้น 



อย่าประมาทกับความตาย  นะคะ มันมาทักทายคุณได้ทุกวินาทีค่ะ จะมีสักกี่คนที่จะ(โชคดี) รู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ จะมีชีวิตอยู่เพื่อทำความดีอีกนานแค่ไหน 


“มาทำทุกวันให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต กันนะคะ”

หมายเหตุ

Elizabeth Kluber Ross จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ผู้ที่ทำงานกับผู้ป่วยใกล้ตาย เขาพบว่าปฏิกิริยาของผู้ป่วยหลังเผชิญกับข่าวร้าย มีอยู่ 5 ระยะ คือ 



Shock/Denial : ตกใจ ปฏิเสธความจริง , Anger : โกรธ , Bargain : ต่อรอง , Depress : ซึมเศร้า , 
Accept : ยอมรับ ทั้ง 5 ระยะนี้ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องผ่าน ทุกระยะ และแต่ละคนก็อาจกลับไปกลับมาได้ เช่น จากโกรธ กลายเป็น เศร้า แล้วมาต่อรอง ลัวก็ยอมรับ หน้าที่ของแพทย์ และคนดูแลก็จะช่วยให้ผู้ป่วย เข้าสู่ระยะยอมรับได้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมที่จะตายอย่างสงบ

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตราบาป




คุณรู้ไหมว่าแต่ละวินาที..มีคนฆ่าตัวตายไปเท่าไหร่ 

.......องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน คิดเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที

คุณแน่ใจได้อย่างไร ว่าตัวคุณ หรือคนข้างตัวคุณจะไม่เป็นคนคนนั้น

......เพียงแค่กลัวว่า “ไม่อยากเป็นตราบาป ที่ต้องมาเจอจิตแพทย์”



ถ้าคุณเป็นโรคลมชักคุณอยากรักษากับหมอทั่วไป หมอกระดูก หมอผ่าตัด หรือหมออายุรกรรมประสาทโรคลมชัก

......ดังนั้นมันจึงเรื่องปกติ ถ้าจิตใจคุณไม่สบาย หมอที่จะดูแลคุณได้ดีที่สุดก็คือ จิตแพทย์


จากการศึกษาในอังกฤษ พบว่า 9 ใน 10 ของผู้ป่วยจิตเวชไปพบแพทย์ทั่วไป และความกลัวในตราบาปของโรคจิตเวชก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปพบจิตแพทย์

เมื่อมีคนแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ หลายคนรู้สึกอาย รู้สึกไม่ดี ปฏิเสธข้อเสนอ คำแนะนำ (คิดว่าไม่หรอกฉันยังไม่ได้เป็นมากขนาดนั้น) กลัวสังคมรอบข้างมองไม่ดี รู้สึกเหมือนเป็นตราบาปในชีวิต (ภาษาอังกฤษอาจใช้ความรู้สึกแบบนี้ว่า stigma/มลทิน,ความอัปยศ) ซึ่งที่จริงคำว่า ตราบาป ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า sin ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกผิดบาป ที่ฝังอยู่ในใจ




ความรู้สึกเหล่านี้ เหมือนเป็นกำแพงขนาดยักษ์ ที่ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่กล้ามาพบจิตแพทย์

โดยมักมีความคิด ความเชื่อ(ผิดๆ )ว่า 

  • มีแต่คนบ้าที่จะไปหาหมอโรคจิต (จิตแพทย์) 
  • อาการทางจิตเวช เป็นเรื่องของ จิตใจ นิสัย สันดาน ไม่ใช่โรค แก้นิสัยไม่ดีสิ อย่าไปคิดมาก(ง่ายๆ) 
  • ยาจิตเวชมีแต่กดประสาท กินแล้วง่วง กินแล้ว โง่ กินมากๆ เดี่ยวก็ติดยาหรอก 
  • มีแต่คนอ่อนแอ เท่านั้นที่จะไปพบจิตแพทย์ 
  • ไปหาหมอแล้ว บอกใครว่าไปพบจิตแพทย์ โดนมองว่าน่ารังเกียจ จะโดนเราทำร้ายรึเปล่า เหมือนคนสติไม่สมประกอบ ไม่ไปดีกว่า รักษาตัวเอง 
  • มันไปหาจิตแพทย์แล้ว อย่าไปยุ่งกับมันมาก เดี๋ยวก็เป็นบ้าตามมันหรอก 
  • หาจิตแพทย์ก็เท่านั้น เดี๋ยวโดนสะกดจิตหรอก 

                                              
ทำไมเราถึงรู้สึกและมีความเชื่อกันแบบนั้น

1.จากอาการของโรคเอง 

  • ปัญหาพฤติกรรมบางอย่าง เช่น สกปรก เดินเร่ร่อน แต่งกาย ใช้คำพูด หรือทำท่าแปลกๆ 
  • ก้าวร้าวหวาดระแวง ทำร้ายคนไม่เลือกหน้า ควบคุมตัวเองไม่ได้ 
  • แยกตัว ไม่สบตา ไม่คุยกับใคร 
  • อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆลงๆ คาดเดายาก 
                                                               

2. ทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์เอง 
  • แพทย์ทั่วไปหรือแม้แต่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคน มีประสบการณ์ไม่ดีกับพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวช และมักขาดความรู้ ความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับการเกิดโรค อาการของโรค และการรักษา (จิตเวชเป็นเพียงแค่วิชาเล็กๆ เลยไม่ค่อยได้รับความสนใจในการเรียนมากเท่าไหร่) หลายคนยังมีความเชื่อว่าถ้ากินยาจิตเวชแล้วจะติดยา เลยแนะนำคนไข้ว่าอย่ากินยา ให้ปรับความคิด พฤติกรรมเอาเอง เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดหรอก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด 

  • พอรู้ว่าเคยมีการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ก็คิดว่าอาการ(ทางกาย)ที่เป็น เป็นจากจิตใจ มองคนไข้ต่างจากคนไข้ทั่วไป 
3.ประกันที่ไม่ครอบคลุม 
  • เนื่องจากเชื่อว่าเป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง และมีผลกระทบต่อบริษัทระยะยาว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดหัวใจ การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้ว ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจิตเวชนั้นน้อยกว่ามาก 
  • ดูเป็นโรคที่ไม่มีผลการตรวจเลือด ผลเอกซเรย์ยืนยัน คนไข้อาจแกล้งป่วยเพื่อใช้ประกัน 

ความเป็นจริงเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช 

1.เหมือนกับโรคทางกาย(ที่คุ้นเคยทั่วไป)


  • มีทั้งโรคเรื้อรัง(เหมือนเบาหวาน ความดัน) และชั่วคราว (เหมือนภาวะติดเชื้อ อุบัติเหตุ  ไส้ติ่งแตก)
  • มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย(เหมือนเป็นหวัด ปวดหัว/อาจหายเองได้ ) จนถึงระดับรุนแรง (ต้องรับ   รักษาในโรงพยาบาล มีผลต่อชีวิตเหมือนเป็นมะเร็ง) 
  • การเกิดโรคเกิดจากทั้ง ชีวภาพ ( สมองทำงานผิดปกติ ฮอร์โมนผิดปกติ การได้รับสารบางชนิด การติดเชื้อ) ร่วมกับพฤติกรรมบางอย่าง(เหมือนกับพฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา) 
  • การรักษาผู้ป่วย ทำเหมือนกับโรคทั่วไป คือ วินิจฉัย หาสาเหตุ รักษาที่สาเหตุ ป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ติดตามอาการ

2.อาการทางจิตเวช มีทั้งแบบที่รู้ตัว เจ้าตัวก็ทุกข์กับอาการมาก เหมือนผู้ป่วยที่มีอาการปวด                (แต่เป็นปวดที่ใจแทน) 



เวลาคุณปวด คุณเลือกที่จะกินยาแก้ปวด หรือ นั่งข่มจิตว่าไม่ปวด ดังนั้นการรักษาโดยการกินยาก็เหมือนเป็นยาแก้ปวดนั่นเอง

3.อาการบางอย่างเจ้าตัวไม่รู้ตัว เช่น เดินแก้ผ้าตามถนน หลงผิดคิดว่ามีคนมาปองร้าย อาการเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนกับภาวะชักอย่างหนึ่ง(ไม่ใช่ชักเกร็ง กระตุก ที่คุ้นเคยกัน) ที่ออกมาเป็นปัญหาความคิด พฤติกรรม

                                    

ดังนั้นถ้าคุณ(เป็น)เห็นคนกำลังชักคุณอยากจะช่วยพวกเขาหรือปล่อยให้เขาเป็นอยู่แบบนั้น คนไข้ที่มีอาการเหล่านี้ก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน 

4.มีผู้ป่วยจิตเวชเพียง 3% เท่านั้น ที่จะมีพฤติกรรมรุนแรง แต่จากสื่อต่างๆ แสดงอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวช หรือมีข่าวอาชญากรรมที่ทำโดยผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งในความเป็นจริงมีคดีเพียงจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของคนปกติทั่วไป




5.เนื่องจากโรคจิตเวชถูกมองเป็นตราบาปอยู่แล้ว น้อยมากที่จะแกล้งมีอาการจิตเวช ส่วนใหญ่มักแกล้งเป็นอาการทางกาย(ที่คุ้นเคย ได้รับความเห็นใจ ช่วยเหลือ )มากกว่า


สำหรับฉัน 

ฉันกลับรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของพวกเขามาก ที่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้น มาพบจิตแพทย์ ฉันมักจะมีความรู้สึกดีกับพวกเขาเสมอ ฉันเชื่อว่ากว่าที่พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามความรู้สึกกลัว ความรู้สึกอาย มาได้ต้องใช้พลังใจอย่างสูง ซึ่งลึกๆแล้วมักเกิดจาก ความรักในตัวของพวกเขาเอง ที่มีความเชื่อว่าเขาต้องดีขึ้น ไม่ยอมแพ้กับอะไรไปง่ายๆ




“ ผู้ป่วยจิตเวช ไม่ใช่คนบาป ไม่ใช่คนที่ทำอะไรไม่ดี หรือทำอะไรผิด อย่าโยนตราบาปใส่พวกเขาเลย

เปิดตัว เปิดใจ ยอมรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆกันเถอะค่ะ ใครจะรู้วันนึงคุณหรือคนใกล้ตัว ก็จำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์เหมือนกัน ”


http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1001