วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กลัว (Fear)


คุณเคยกลัวอะไรกันบ้างมั้ย


ความกลัวมีหลายแบบ

รู้ชัดเจนว่ากลัวอะไร

ทั้งที่เฉพาะเจาะจง ระบุได้ เช่น กลัวสัตว์บางชนิด ตุ๊กแก งู แมลงสาป แมงมุม เสือ กิ้งก่า ปลาไหล
  กลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ กลัวที่สูง กลัวที่แคบ กลัวอุโมงค์ ฯลฯ (ทางการแพทย์อาจเรียกว่ากลัวแบบ Phobia)




หรือ นามธรรม เช่น กลัวถูกทิ้ง กลัวอับอาย กลัวเสียชื่อเสียง กลัวเหงา กลัวการอยู่คนเดียว ฯลฯ สารพัดที่จะกลัว



- กลัวอะไรไม่รู้ รู้แต่ว่ามันกังวล ใจคอไม่ดี (ทางการแพทย์อาจเรียกว่ากลัวแบบ Anxiety หรือพวกวิตกกังวล )


“คนขี้กังวลเหมือนเป็นคนที่ชอบหยิบยืมความทุกข์ในอนาคตมาให้ตัวเอง”

ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต มีไว้เหมือนเป็นสัญญาณ เพื่อเตือนเราให้หลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอันตราย ความกลัวต่างๆมักเป็นจากประสบการณ์การเรียนรู้ในวัยเด็ก หรือพบเห็นทั้งตั้งใจ ไม่ตั้งใจ สารพัดเหตุการณ์ที่เราต้องเจอตั้งแต่เด็กจนโต

  • อาจเป็นกฏในบ้าน เช่น แม่ไม่ชอบความสกปรก ทำอะไรเลอะเทอะโดนทุกที ห้ามกลับบ้านดึก โดนด่าเละ
  • อาจเป็นคำเตือน เช่น อย่าเข้าใกล้แมงสาปนะ มันสกปรก ตั้งใจเรียนนะเดี๋ยวพ่อแม่ไม่อยู่จะได้ดูแลตัวเองได้
  • อาจเป็นคำขู่ เช่น อย่าร้องนะเดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ อย่าดื้อนะเดี๋ยวแม่ไม่รัก
  • อาจเป็นประสบการ์ทางอ้อม เช่น เห็นข่าวนักเรียนตีกันบนรถเมล์ ข่าวคนโดนข่มขืนในที่เปลี่ยว เลยไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว
  • อาจเป็นประสบการ์ตรง เช่น โดนสุนัขกัด เห็นคนถูกรถชนต่อหน้า โดนจับฉีดยาตอนเด็กๆ เห็นพ่อทำร้ายตบตีแม่
อารมณ์พวกนี้ถูกฝังไปในสมองส่วนลึก ในส่วนที่สัมพันธ์กับการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่าค่อยๆสะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกทีละเล็กทีละน้อย จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ความกลัวต่างๆเหล่านี้มักจะมาเป็นอัตโนมัติ ให้เราตื่นตัว เพื่อจะหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆที่อาจเป็นอันตรายต่อการมีชีวิตอยู่ของเรา บางครั้งก็ดูสมเหตุสมเหตุ บางครั้งก็ดูไร้สาระเสียเหลือเกิน



“ การเป็นคนที่วิตกกังวลกับทุกเรื่องตลอดเวลา นับเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานของร่างกาย ต้องใช้ความอดทนอย่างมากกับการอยู่กับความหวาดกลัว ชีวิตขาดความสุข ความวิตกกังวลไม่ได้ให้ผลดีกับคนเราเลย นอกจากจะเพิ่มความเครียด และบีบคั้นตัวเราเองยิ่งขึ้น”

กลุ่มโรควิตกกังวลเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชที่มีความชุกมากที่สุด ผู้ป่วยมักมาด้วย อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มือสั่น พูดติดอ่าง นอนไม่หลับ ฝันร้าย กระสับกระส่าย ปั่นป่วนในท้อง เวียนหัว อาการต่างๆ เหล่านี้ อาจแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้

- Specific phobia กลัวสิ่งที่รู้แน่แก่ใจ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไปเผชิญหน้ากับมัน ถ้าเจอกันเมื่อไหร่มีเรื่องทุกที เช่น ไม่กล้าอยู่ในลิฟท์ กลัวที่สูง กลัวเลือดเห็นแล้วลมจับ



- Social phobia กลัวการพูดหรือแสดงอะไร ต่อหน้าสาธารณะ กลัวทำอะไรเปิ่นๆ กลัวทำผิดพลาด พูดตะกุกตะกัก เหงื่อแตกพลั่ก ยิ่งคิดว่าคนอื่นต้องหัวเราะเราแน่ ยิ่งกลัวมากขึ้นไปอีก



- Generalized anxiety กลัวมันได้ทุกเรื่อง เรื่องสุขภาพ เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องพ่อ แม่ สารพัดจะกังวล คิดล่วงหน้าไว้หลายขั้นไม่ร้จะเกิดไม่เกิดแต่ทุกข์ไปแล้วล่วงหน้า รู้สึกเหมือนแบกอะไรไว้ที่บ่าสองข้าง คิดจนปวดหัว



มีใครมีอาการแบบนี้กันบ้างมั้ยคะ ถ้าเป็นมากๆ จนเสียหน้าที่การงาน เสียความสุขในชีวิตไป อาจเป็นความกลัวจนเป็นโรคแล้วอย่าลืมไปปรึกษาแพทย์ เพื่อช่วยหาทางรักษานะคะ

หนทางกำจัดความกลัว

- รู้ให้ชัด กลัวอะไร และจัดการ เปลี่ยนความคิดพิชิตความกลัว ทำความเข้าใจกับตัวเอง ว่าแท้ที่จริงเรากลัวอะไร มีคนไข้หลายคนมาหาด้วยอาการกลัวการพูดในที่ประชุม จนทำให้งานไม่ก้าวหน้าจะพูดทีไรก็ตะกุกตะกัก แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เขากลัวกลับไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นเสียงตัวเองที่จะคอยวิจารณ์ตัวเองเมื่อทำผิด ถ้าพลาดแปลว่าแย่มาก เป็นคนไม่ได้เรื่อง ทำให้เขากลัวการทำผิดพลาด เมื่อรู้ชัดเจนถึงสาเหตุความคิดที่บิดเบือน ก็จัดการที่ความคิดนั้นๆ เช่นเปลี่ยนเป็นเสียงให้กำลังใจตัวเอง ทุกคนชื่นชมฉัน ฉันทำได้ เอาความมั่นใจกลับคืนมา

- รู้ให้จริง กลัวไปทำไม มีประโยชน์อะไร บางอย่างก็สมควรที่จะกลัว เช่นกลัวการสอบตก เพราะต้องซ้ำชั้น ทำให้ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น แต่บางอย่างที่เรากลัวเมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นว่าไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่ง รู้สึกกลัวการไปในที่สาธารณะคนเดียว ไม่กล้าไปตลาด กลัวไม่มีคนช่วย ถ้าตัวเองเป็นอะไรไป ทั้งๆที่สุขภาพแข็งแรงดี เมื่อกลับมาพิจารณาต้นเหตุความคิดที่ทำให้กลัวแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ความคิดนั้นกลับสร้างความกังวลจนเกิดผลเสียตามมามากมาย เราก็จะละความคิดนั้นๆไปได้ง่ายมากขึ้น

- ค่อยๆเผชิญความกลัว ทีละนิด เริ่มการเผชิญหน้าสิ่งที่เรากลัว เพียงแค่ใช้การจินตนาการก่อน แล้วค่อยๆสัมผัสกับของจริงทีละนิดๆ

อาจเขียนสถานการณ์ที่เรากลัวไล่ลำดับ จากน้อยไปมาก เช่น

1. แค่คิดว่ามีตุ๊กแกในห้องก็สยองแล้ว

2. เห็นตุ๊กแกอยู่บนผนังบ้านด้านนอก

3. เห็นตุ๊กแกในห้อง

4. ให้จับตุ๊กแก

ก็ค่อยๆเผชิญหน้ากับมันทีละด่านๆ เหมือนกับการเล่นเกมส์ ช่วงแรกอาจมีตัวช่วยเช่นให้คนอยู่เป็นเพื่อนในการเริ่มด่านใหม่ เมื่อค่อยๆผ่านทีละด่าน ร่างกายก็จะเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ได้ข้อสมมติฐานใหม่ ว่าสิ่งที่เราคิ ดเรากลัว อยู่เดิม มันไม่จริงเอาเสียเลย ความกลัวก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป

“ ความกลัวนั้นมักเป็นกรงขังที่ตีกรอบผู้คนให้ยอมทนอยู่กับสภาพเดิม ๆ โดยไม่คิดที่จะเผชิญสิ่งท้าทายหรือความยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันมีผลดีต่อตัวเอง ไม่ใช่การหนีสิ่งที่เรากลัว การหันหน้ามาเผชิญกับมันต่างหาก คือสิ่งที่ควรทำ เพราะจะทำให้เราหายกลัว เมื่อนั้นมันจะไม่มีพิษสงอีกต่อไป และทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง”

                                                                                                                                     พระไพศาล วิสาโล



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 กันยายน 2558 เวลา 01:36

    รู้สึกว่าตัวเองกลัวการถูกทิ้ง กลัวความสัมพันธ์ค่ะ เวลามีความรักจะไม่สามารถเชื่อคนรักว่าเค้ารักเราได้และจะคอยทำสิ่งแย่ๆเพื่อให้เค้าบอกเลิก ทั้งๆที่ความจริงรักเค้ามาก ใช่ป่วยเป็นโรคไหมค่ะ

    ตอบลบ