วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

หาคนรักให้ได้ (ภายใน 28 วัน)


เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก ใครที่ไม่มีคนรักคงรู้สึกเหงาอยากมีคนรักบ้าง ใครที่มีคนรักอาจกำลังหมกมุ่นกับการหากิจกรรมหรือของขวัญที่จะทำให้กับคนที่เรารัก



ความรักก็เหมือนอาหารนะคะ ขาดไม่ได้ กินมากไปก็อิ่มเกิน เอียนเกิน อาหารบางจานก็ถูกปาก บางจานก็เลี่ยน ไม่อยากกิน เรื่องแบบนี้เป็นเหมือนความชอบส่วนบุคคลจริงๆ แต่อาหารอร่อยๆนี่คนส่วนใหญ่ก็มักมีความเห็นตรงกันว่าอร่อย เหมือนคนน่ารักคนส่วนใหญ่ก็มีความเห็นตรงกันว่าน่ารัก วันนี้เลยลองรวบรวมสูตรความอร่อยมาให้ทดลองทำกันดู ใครที่ไม่มีรักจะได้มีรัก ใครที่ไม่มีรักจะได้รักกันมากขึ้น

                                                           “ตำรับรัก



เครื่องปรุง “ตำรับรัก” ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักส่วนประกอบสำคัญแต่ละส่วนกันก่อน

1. ความรัก : เอ! หน้าตามันเป็นยังไงนะ แล้วหาซื้อได้ที่ไหน ใช่หัวใจหรือป่าว


ที่เขาเปรียบความรัก เหมือน หัวใจ เพราะความรักทำหน้าที่คล้ายหัวใจของคนเราคือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ทำงานตลอดเวลา(ตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ จนเราตาย) ความรักก็ทำหน้าที่เหมือนพลังงานด้านบวกที่ร่างกายใช้สูบฉีด ผลักดันให้มีแรงทำงานขับเคลื่อนเหมือนเป็น "พลังใจ"



         ส่วนประกอบ “เครื่องแกงความรัก”

                                                     

ทำไมถึงขาดรักไม่ได้ เพราะที่จริงความรักมาช่วยเติมความต้องการของมนุษย์ แค่เราเข้าใจความต้องการของเพื่อนมนุษย์และเราสามารถตอบสนองความต้องการหรือช่วยให้เขาเติมเต็มเติมในสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะเป็นคนสำคัญของใครซักคนได้ไม่ยาก จากทฤษฎีของ มาสโลว์ (Maslow) เชื่อว่าเรามีความต้องการพื้นฐานเหมือนกันคือ

ด้านร่างกาย : ทุกคนต้องการปัจจัยสี่ตั้งแต่อาหาร น้ำ เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ตั้งแต่เกิดมาเรารู้ว่า แม่รักเราเพราะแม่ให้น้ำนมเรากิน ให้เราอยู่รอด เราจึงเรียนรู้ง่ายๆว่า ใครที่มีน้ำใจ แบ่งปัน เอาใจใส่เราเหมือนที่แม่เราทำให้ เราก็คงรู้สึกดีไม่น้อย การดูแล เอาใจใส่ แบ่งปัน จากใครซักคนจะมาช่วยเติมเต็มความต้องการตรงนี้ของเรา

ความปลอดภัย : เราทุกคนชอบอยู่กับคนที่ไม่ทำร้ายเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทุกคนอยากมี Safe place เป็นที่ที่เราอยู่แล้วไม่กลัว ไม่ระแวง ปลอดภัย สบายใจ อบอุ่น ทั้งนี้ก็เกิดจากการอาศัย ความเข้าใจ ให้เกียรติ เชื่อมั่น เคารพซึ่งกันและกัน 

ความผูกพัน : ความรักอาจเริ่มเพียงเสี้ยววินาที แต่การรักษาให้คงอยู่ต้องอาศัยเวลา เราทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของใครซักคน ไม่อยากรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวบนโลก เราจึงต้องการคนที่ เป็นเหมือนเพื่อน ใกล้ชิด มีความสม่ำเสมอ เคียงข้างไม่ว่ายามทุกข์ หรือสุข

การยอมรับ : ความรักมักมาคู่กับการยอมรับนับถือ ชื่นชม เมื่อเราชอบอะไร เราก็จะเปิดใจยอมรับในสิ่งนั้น ภูมิใจกับสิ่งนั้น อาจเริ่มมาจากความชอบพอ พึงใจ ถูกใจ ในเบื้องต้น ในส่วนที่ดีของกันและกัน แต่เมื่อรู้จักกันแท้ที่จริงเราก็แค่ต้องการใครซักคนที่ ให้การยอมรับกับสิ่งที่เราเป็นทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ให้อภัยเมื่อทำผิดพลาด และให้โอกาสในการแก้ไข 

ความสงบ : สุดท้ายมนุษย์เราไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าความสงบ เราชอบที่จะอยู๋ในสภาวะที่ สบาย ไม่มีความคาดหวังที่ทำให้เรารู้สึกถึงแรงกดดัน เราต้องการคนที่ มีใจเป็นกลาง ปล่อยวางได้ มีความสุขกับตัวเองได้ไม่ต้องรอให้ใครมาเติมเต็ม 

เครื่องแกงความรักสูตรนี้ มีส่วนผสมเยอะ พอรู้แล้วก็จับเอาส่วนผสมแต่ละส่วนมาบด โขลก จนละเอียด ให้เข้ากันเพื่อเตรียมไว้ใส่รวมกับส่วนประกอบอื่นๆ



2. คนรัก : ขึ้นชื่อว่าคน นี่ยุ่งวุ่นวายที่สุดแล้ว คนมีความหลากหลายในแง่ หน้าตา บุคลิก การศึกษา ฐานะ  คนเราก็มักวุ่นวายอยู่กับการ อยากเป็น “คนน่ารัก” เพื่อจะได้มี ”คนมารัก”

มีศาสตร์หนึ่งที่ชื่อว่า นพลักษณ์ แบ่งคนออกเป็น 9 ประเภทใหญ่ ๆ ตามความใส่ใจหลักที่ให้ เริ่มจากการทำความรู้จักตัวเอง รู้จักคนที่เราชอบก่อน ว่าเรามีข้อดีอะไร ข้อเสียอะไร คนที่เราชอบเขาเป็นอย่างไร เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ก็ทำให้เราลดโอกาสการเสียเวลาเข้าช่องทางเข้าหาเขาแบบผิดๆ เช่น คน 5 มีโลกส่วนตัว ก็อย่าหวังให้เขาเป็นคนเริ่มชวนเราเที่ยวก่อน มีหวังกินแห้ว เราต้องเป็นคนเริ่มดึงเขาออกมา แต่ต้องมีศิลปะทำอย่างไรไม่เข้าไปรบกวนโลกส่วนตัวเขาเกินไป สามารถศึกษาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.astrosimple.com/enneagram/

                                                             



ศิลปะการเป็นคนน่ารัก 


คนเราสามารถส่งพลังงานออกไปนอกตัวได้ พลังงานนี้เหมือนแม่เหล็ก อาจส่งแรงดึงดูด พลังด้านบวกดึงให้คนอยากอยู่ใกล้ หรือพลังด้านลบ ผลักคนออกไปไกลๆ วันนี้เรามาฝึกส่งพลังด้านบวกกันดีกว่า



- ให้ความรักกับตัวเอง : คนที่รักตัวเองเป็นจะมีความกระตือรือร้นที่จะดูแลเอาใจใส่ร่างกาย จิตใจตนเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ รวมถึงการดูแลบุคลิกภายนอกให้ดูดี เป็นตัวของตัวเอง รักษาความสะอาด พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คิดบวก ยิ้มให้กับตัวเองได้

- เห็นคุณค่าในตัวเอง : ภูมิใจในตัวเอง ให้เกียรติตัวเอง ให้ความสำคัญกับตัวเอง เห็นว่าตัวเองเป็นคนดีพอที่จะรักได้ คนส่วนใหญ่อยากให้มีคนมารัก ทั้งๆที่ยังไม่เชื่อว่าตัวเองดีพอจะรักได้

- เห็นคุณค่าคนอื่นและสิ่งรอบตัว : ชื่นชมความดีของคนอื่น ให้อภัยกับความผิดพลาดของคนอื่นได้ คนมักโกรธมักไม่น่ารัก ให้เกียรติ ให้ความรักความปรารถนาดีกับคนอื่นอย่างที่เราอยากให้กับตัวเอง มีความจริงใจ ให้เกียรติอ่อนน้อม มีน้ำใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา

- หลีกเลี่ยงสิ่งอบายมุข หรือสิ่งที่ทำร้ายร่างกาย จิตใจ เช่นการใช้สารเสพติด การทำผิดกฎหมาย ทำร้ายคน/สัตว์/สิ่งของ ก้าวร้าว หยาบคาย ริษยา โกรธ อาฆาต สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นพลังด้านลบ ที่จะผลักเรื่องดีๆ ออกจากชีวิตเรา



“เมื่อเริ่มจากทำตัวเองให้เป็นคนน่ารักแล้ว ส่งพลังด้านบวกออกไป น่าจะดึงดูดให้มีคนมารักได้ไม่ยาก หรือจากการทำความเข้าใจคนที่เราแอบรัก จะก็น่าจะรู้วิธีการเข้าหา ให้เขาหันมารักเราได้ไม่ยากนะคะ”

“สุขสันต์เดือนแห่งความรักค่ะ

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

คุณสูบบุหรี่หรือไม่

คุณสูบบุหรี่หรือไม่.....
คุณคิดว่าบุหรี่มีอันตรายต่อคุณหรือไม่.....
คุณเคยลองหยุดสูบบุหรี่ด้วยตัวเองหรือไม่......
คุณมีปัญหากับการกลับไปสูบบุหรี่หลังจากลองหยุดแล้วหรือไม่.....

การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ในปี 2554 ประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปจำนวน 53.9 ล้านคน มีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 21.4 แม้ว่าจะทราบว่าการสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดโรคร้ายแรงจากคำเตือนหน้าซองบุหรี่แล้วก็ตาม เช่น สูบแล้วหัวใจวายตาย , สูบแล้วถุงลมพองตาย , สูบแล้วเป็นมะเร็งปอดตาย , สูบแล้วเป็นมะเร็งกล่องเสียง , สูบแล้วเส้นเลือดสมองตีบตาย , สูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก

                                                     

แต่ก็มีหลายเหตุผลที่นำมาเป็นข้ออ้างในการใช้บุหรี่อย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้ตามเพื่อน ช่วยให้คลายเครียด ช่วยให้ทำงานได้ คิดออก มีสมาธิ

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากในบุหรี่มีสารที่ชื่อว่า “ นิโคติน ” ที่เมื่ออัดควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายแล้ว นิโคตินจะทำให้สมองเพิ่มการหลั่งสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ โดพามีน ” สารตัวนี้เองที่ทำให้ร่างกายรู้สึกมีความสุขมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น จนรู้สึกราวกับว่าบุหรี่นั้นมีประโยชน์อย่างมาก

แต่ตัวนิโคตินเองยังมีผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด และในขณะเดียวกันบุหรี่ 1 มวนยังมีสารอื่นๆอีกกว่า 4000 ชนิด เช่น ทาร์, คาร์บอนมอนนอกไซด์ , ไฮโดรเจนไซยาไนด์, ไนโตรเจนได-ออกไซด์ , แอมโมเนีย , สารกัมมันตรังสี เป็นต้น ซึ่งสารเหล่าล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทั้งสิ้น

                                                 


อยากเลิกบุหรี่ทำอย่างไรดี
  • ยอมรับ ว่าต้องการหยุดบุหรี่ เพราะบุหรี่ไม่ดีต่อร่างกาย จิตใจ สังคม 
  • กำหนด วันที่ต้องการจะเริ่มต้นชีวิตที่ดีขึ้น 
  • ทิ้ง อุปกรณ์ที่ใช้ในการสูบทั้งหมดทั้ง บุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ ไฟแช็ก และหลีกเลี่ยงสถานที่กลุ่มคนที่สูบบุหรี่ 
  •  มองหา กำลังใจ อาจเป็นคำพูดชื่นชมตนเอง ฉันทำได้ เลิกเพื่อลูก มองหากิจกรรมอื่นๆทดแทน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง 
  • ให้อภัย และเริ่มต้นใหม่ บุหรี่เหมือนจะเลิกได้ง่าย แต่ก็อาจมีโอกาสกลับไปใช้ใหม่ง่าย ให้อภัยตัวเองและเริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด
เลิกบุหรี่ดีอย่างไร 
  • สุขภาพตนเองและคนรอบข้างดีขึ้น เพียงแค่หยุดได้ 1 วัน ลมหายใจจะสดชื่นขึ้น ไม่มีกลิ่นปาก หยุดได้นานขึ้น ระบบทางเดินหายใจ และหลอดเลือดกลับมาทำงานเป็นปกติ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆลดลง 
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉลี่ยสูบวันละ ½ -1 ซอง ซองละ 40-80 บาท หนึ่งเดือนจะประหยัดเพิ่ม 600-2400 บาท หรือถึง ปีละ 7200-28800 บาท 
  • เป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของบุหรี่ ไม่ต้องเหนื่อยเพื่อหาพื้นที่ไว้สูบบุหรี่ 
  • ชื่นชมตัวเองที่ทำสำเร็จ มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งบุหรี่ 
  • เป็นที่รักของคนใกล้เคียง ที่ไม่เพิ่มการก่อมลพิษ ให้สิ่งแวดล้อม
 อาการถอนบุหรี่อาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ กินจุมากขึ้น
 อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์
 มีการรักษาหลายอย่างที่ช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
    " มารณรงค์ ไม่สูบบุหรี่กันเถอะค่ะ"




การจัดการกับความโกรธ (Anger management)

“ความโกรธ เป็นเหมือนไฟเผาใจเรา”
โกรธ ! ! ! ! …..ฉันไม่ชอบ.. ฉันไม่พอใจ.. ฉันโมโห.. ฉันเกลียด 

เชื่อว่าทุกคนเคยมีอารมณ์แบบนี้ผ่านเข้ามาในชีวิต อารมณ์ โกรธ เป็นอารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่ง(ของมนุษย์และสัตว์ นอกจาก อารมณ์รัก ชอบ เจ็บ เฉย) แต่ที่ต่างกัน คือการแสดงออกของความโกรธ ซึ่งอาจจะออกมาเป็นความก้าวร้าว ด่า ทำร้ายทั้งคำพูดหรือ การกระทำ หรืออาจเก็บกดไว้ กลายเป็นหนามทิ่งแทงใจ เจ็บใจ เศร้าใจ เหมือนตกเป็นเหยื่อ ไร้ทางสู้

ความโกรธเกิดจากอะไร. . . ความโกรธเหมือนเป็นสัญชาตญาณการป้องกันตัวอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเพื่อป้องกันอันตราย จากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย ให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะ สู้ หรือ หนี

                                                          


เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้างเมื่อโกรธ. . . ความโกรธเป็นภาวะความ เครียดฉับพลันอย่างหนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาคือ คอร์ติซอล สารตัวนี้จะมีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ(Sympathetic nervous system) ทำให้ เส้นเลือดหดตัว หัวใจบีบตัวแรงและเร็วขึ้น เหมือนที่มีคนกล่าวว่า “โกรธจนเลือดขึ้นหน้า”กล้ามเนื้อบีบตัวแรง หายใจเร็วแรงขึ้น สมองส่วนหน้าด้านการใช้เหตุผล วางแผนไม่ทำงาน ขาดความยับยั้งชั่งใจ

“คนมักโกรธเพิ่มโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ปวดศีรษะไมเกรน โรคกระเพาะอาหาร เพิ่มสารก่อมะเร็งในร่างกาย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง”

                                                              

พฤติกรรมที่แสดงความโกรธแสดงออกมาต่างกันเพราะ. . . 

กรรมพันธุ์ : มีการศึกษาที่ระบุยีนที่ทำให้แสดงออกความโกรธออกมาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง(ในบางคน)

เพศ : เพศชายมีฮอร์โมนเพศที่เรียกว่า เทสโทสเทอโรน มากกว่าเพศหญิงซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว(Aggression) มากกว่า ส่วนในผู้หญิงมักแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมเก็บกด โทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองแทน

อายุ /สติปัญญา : ในเด็ก หรือในคนที่มีเชาน์ปัญญาบกพร่อง สมองและวุฒิภาวะทางอารมณ์ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อเกิดเรื่องขัดใจก็จะแสดงออกมาตามสัญชาตญาณดิบ เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการของตนทันที เช่น กรีดร้อง โวยวาย ทุบตีตัวเอง ในเด็กโตอาจแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แน่นหน้าอก หรือบางคนก็ดื้อเงียบ ต่อต้าน ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่กินข้าว ไม่ไปโรงเรียน

การเลี้ยงดู/การเรียนรู้ /บุคลิกภาพ : การแสดงออกของพฤติกรรมเป็นผลจากการเลียนแบบสังคมรอบตัว โดยเฉพาะในครอบครัว เช่น การใช้คำหยาบ ทำร้ายร่างกายกัน การเรียนรู้กฏ กติกา เงื่อนไข กาลเทศะของสังคม ความนับถือตนเอง การให้เกียรติคนอื่น การเชื่อในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ถ้าพัฒนาไม่ดีทำให้บุคลิกภาพผิดปกติ เช่น แปรปรวน ต่อต้านสังคม ชอบแข่งขัน เป็นต้น

โรคทางกายบางชนิด : โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม สมองขาดเลือด/ได้รับความกระทบกระเทือน ที่มีรอยโรคบริเวณสมองส่วนหน้า ทำให้เกิดอาการแสดงคือ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หุนหันพลันแล่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือ อาจเป็นผลจากโรคที่มีความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน ทำให้อารมณ์รุนแรงแปรปรวน ถูกกระตุ้นได้ง่าย

โรคทางจิตเวชและการใช้สารเสพติด : โรคสมาธิสั้น ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่นหูแว่ว หลงผิด อาจตอบสนองต่อเหตุการณ์ในทางที่รุนแรง การใช้สุราทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ การใช้ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา กระตุ้นร่างกายให้รู้สึกมีพลัง ก้าวร้าว

                                                       
                                                                        
วิธีดับไฟโกรธ

รู้ตัวให้ทันว่าเริ่มมีอารมณ์โกรธ : ฝึกสังเกตจาก ใจที่ร้อน หงุดหงิด กล้ามเนื้อที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น คิ้วขมวด กำหมัดแน่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว

มีสติ ผ่อนคลาย : เมื่อเริ่มรู้ตัว ว่ากำลังโกรธ บอกกับตัวเองว่า “ความโกรธเหมือนเพลิงเผาใจ ดับไฟก่อนที่ไฟจะไหม้บ้านหมด” อาจขอเวลานอก หนีออกจากสถานการณ์นั้นก่อน สูดลมหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ถ้ายังไม่ดีขึ้น นับหนึ่งถึงสิบ สังเกตการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ อาจใช้วิธีเพ่งความสนใจไปที่มือ กำมือ-แบมือ (บีบ-คลาย) ช้าๆ

สำรวจความคิด : กลับมาสำรวจต้นตอของความโกรธ เขาไม่ทำตามคำสั่งฉัน กล้าท้าทายฉัน กล้าลองดีกับฉัน ไม่เห็นความสำคัญของฉัน ไม่ยุติธรรมเลย ทำแบบนี้กับฉันไม่ได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจาก “ฉัน“ หรือการยึด(อัตตา)ตัวเองมากเกินไป การลดขนาดตัวอัตตาให้เล็กลงเข้าใจสถานการณ์ ที่มากระตุ้นมากขึ้น ด้วยใจที่เป็นกลาง จะช่วยลดความรู้สึกโกรธลงได้

พิจารณาประโยชน์และโทษ : ความโกรธที่เกิดขึ้นมีประโยชน์กับเราอย่างไร ถ้าไม่มีจะเก็บมันไว้ทำไม ไร้สาระ ตัดความคิดที่ทำให้โกรธออกไปบ้าง ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า ......เรื่องนี้สำคัญหรือไม่ .......เหมาะสมที่จะโกรธไหม .......สถานการณ์นี้แก้ไขได้หรือไม่ .......คุ้มหรือไม่ที่จะโกรธ

ให้อภัย : คนเราทำผิดพลาดกันได้ ไม่มีใครอยากทำผิดถ้าเลือกได้ คงมีเหตุผลที่เขาทำแบบนั้น ให้อภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นอกจากช่วยลดผลกระทบจากการกระทำที่อาจส่งผลรุนแรงแล้ว ยังลดผลกระทบในใจเราเองด้วย

หาทางเลือกที่ดีที่สุด : ค้นหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร พิจารณาถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ หาทางออก/ทางแก้ปัญหาไว้หลายๆทาง ชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสีย พิจารณาผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกระทำในแต่ละทางเลือกนั้นๆ

“แต่ที่จริงปัญหา คือ เวลาโกรธเรามักไม่รู้ตัว สิ่งแรกที่ควรฝึกคือ การฝึกรู้สึกตัวเมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น เพื่อรู้เท่าทันความคิด การกระทำที่ตามมา”
                                             

“ไฟไหม้บ้าน ต้องรีบดับไฟ ยังไม่เกิดต้องซ้อมดับไฟ ....เหมือน.....ความโกรธเกิดขึ้นต้องรีบดับความโกรธ เมื่อยังไม่เกิดต้องคอยซ้อมมีสติรู้เท่าทันความโกรธ”

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ผมเป็นบ้ารึเปล่าครับ

ตั้งแต่ฉันมาทำงาน มีอย่างหนึ่งที่น่าแปลกใจมากก็คือ คนที่มาพบจิตแพทย์ มักจะมีคำถามว่า "แบบนี้เรียกว่าเป็นบ้ารึยังครับ/คะ หรือ ผมไม่ได้เป็นบ้าใช่มั้ยครับหมอ "




คนเรามักกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า ( อันนี้ คงจะเห็นด้วยใช่มั้ยคะ ) แต่ก็คงได้ยิน หรือบางคนอาจเป็นคน พูดเองเลยเหมือนกันใช่มั้ยคะว่า โอ๊ย..อยากจะบ้าตาย ยิ่งตอนเวลาที่เครียดมากๆ เบื่อมากๆ รู้สึกแย่มากๆ โกรธ มากๆ หงุดหงิดมากๆ  จริงๆ แล้ว การที่คนเราบ้าเนี่ย มันดีหรือไม่ดีกันแน่คะเนี่ย

" คำว่า บ้า ในทางการแพทย์ เราจะใช้คำว่า Psychosis "
 
             คำนี้จะใช้เมื่อ ผู้ป่ วยมีการเสียการรับรู้โลกตาม ความเป็นจริง หรือ Out of realityเช่น

  •  มีอาการหลงผิด ( Delusion/fixed false believe ) เช่นคิดว่ามีคนปองร้าย  คิดว่าตัวเองเป็นเทพมาจุติ เป็นอุลต้าแมน (แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล)
  •  มีการรับรู้ที่ผิดจาก การรับสัมผัสจริง อาจเป็นการแปลผิด เช่น การเห็นสายน้าเกลือเป็นงู    (Illusion ) หรือ การเห็นคนถือมีดแล้วแปล ความว่าคนนั้นจะมาทำร้ายตน (Delusional perception) บางคนเป็นแบบที่ได้ยินเสียงคนมาวิจารณ์หรือพูดถึงตน โดยที่ไม่เห็นตัว (Hallucination)  


                    


ถ้ามีอาการคล้ายๆ แบบดังกล่าวที่ว่า ทางการแพทย์ถึงจัดว่า เป็นบ้า ซึ่งที่จริงแล้ว คนที่มีอาการดังกล่าว มักจะไม่รู้ตัว กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเขาจะคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง ดังนั้นเขา จึงมักไม่รู้ตัวว่า ตัวเองเป็นบ้า แล้วก็ไม่กังวลว่าตัวเองจะเป็นบ้า



ที่ธรรมชาติสร้างกลไกให้เราเป็นบ้านี่   มันก็เป็นการป้ องกันจิตใจเราอย่างหนึ่ง  เพราะการที่ เราได้หลุดออกจากความเป็นจริงที่เรามักจะรับมันไม่ได้ ไปอยู่ในโลกสมมติที่ทำให้สบายใจมากขึ้น เช่น บางคนเวลาที่เศร้ามากๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ถูกกดดันมานานๆ ไม่สามารถระบาย ออกมาได้ สมองเราก็ปรับตัวโดยการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง สร้างภาพความคิด การรับรู้ ว่าตัวเองเป็น ผู้วิเศษ เช่น เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นเทพบ้าง ฯลฯ แล้วแต่อยากจะเป็น และการที่เราสร้างเรื่องดังกล่าวขึ้น รับรู้ตามเรื่องสมมติดังกล่าว เขาก็สามารถกลับมามีความสุขได้



แต่ในทางกลับกัน คนเราก็กลัวที่จะเป็นบ้าจริงๆ เพราะเมื่อเป็นแบบนั้น เราจะเสียการควบคุมตนเอง ตามความเป็นจริง เสียการรับรู้ตามความเป็นจริง จึงทำให้การตัดสินใจในการจะทำอะไรก็ไม่อยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นจริง น่ากลัวใช่มั้ยคะ ถ้าจะต้องเป็นบ้าไปจริงๆแบบนั้น

และก็มีคนไข้อีกกลุ่มนึงค่ะ ที่ชอบคำถามว่า กลัวจะเป็นบ้า เพราะมีเรื่องกังวลที่ไม่หลุดออกมาเสียที ทั้ง ที่รู้ว่าบางเรื่องก็ไร้สาระ บางคนก็กลัวกับอะไรมากๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต เช่น กลัว การที่ต้องอยู่ต่อหน้าคน มากๆ แม้กระทั่งการออกจากบ้านก็ยังกลัว บางคนก็หมกมุ่นกับเรื่องความเศร้าของตัวเองมากๆ อยากหายเศร้าก็ ทำไม่ได้ เป็นต้น โรคในกลุ่มนี้ทางการแพทย์อาจจัดว่าเป็นกลุ่มพวก
โรคจิตประสาท ( Neurosis) 
  


ที่ผู้ป่ วยกลุ่มนี้กลัวว่าตนจะเป็นบ้าก็เพราะ อาการเหล่านี ้ มักเกิดจากความคิด ที่หมกมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป แล้วทำให้เกิดความทุกข์ (distress) เป็นมากจนทำหน้าที่ตามกิจวัตรไม่ได้ตามปกติ (dysfunction) แล้วมันก็ควบคุมไม่ได้  เพราะอย่างนี ้ คนถึงเริ่มกลัวว่าจะเป็นบ้า เพราะเริ่มจะเสียการควบคุมตัวเองไง  แล้วในบางครั้งถ้าติดอยู่ในวังวนความคิดแบบนี้นานๆ ก็กลายเป็น บ้าไปจริง ๆก็ได้



จริงๆแล้ว คนส่วนใหญ่ก็เหมือนคนบ้านะคะ ที่ชอบไปยึดติดกับอดีต กังวลกับอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ไม่สามารถไปแก้ไข เปลี่ยนแปลงอะไรได้  ไม่อยู่ในโลกของความจริง ( เพราะโลกความจริงเราก็ไม่ สามารถนั่ง time machine ย้อนเวลากลับไปได้อยู่ดี ) ส่วนอนาคตก็เป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แล้วที่จริงอนาคตก็เป็น ผลจากปัจจุบันนี่เอง ถ้าเราเอาปัจจุบันมานั่งกังวลถึงอนาคตไปเรื่อยๆ น่าสงสารตัวเองในอนาคตนะคะ ที่ตัวเรา ในปัจจุบัน ไม่คิดจะทำอะไรให้กับตัวเองในอนาคตเลย




ปัจจุบันอยู่ที่เราจะเป็นคนเลือก.....ว่าเราจะ



  •          ......... เลือก ที่จะติดอยู่ในอดีต 

  •          ..........เลือก ที่จะกังวลถึงอนาคต 




    •  หรือ เลือก ที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด