วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

เมื่อฉันต้องไปพบจิตแพทย์


เมื่อมีความเจ็บป่วยทางกายเราสามารถสังเกต ตรวจพบได้อย่างชัดเจน และกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเพราะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้โดยทั่วไปในสังคมไทย แต่เมื่อรู้สึกไม่สบาย(ทาง)ใจ หลายๆคนเก็บไว้ ไม่กล้าบอก หรือไม่คิดว่าต้องพบแพทย์ ไม่อยากให้ใครเห็นว่าอ่อนแอ จนบางครั้งปล่อยให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นจนเสียหน้าที่การงาน หรือการดำรงชีวิตประจำวัน


“จิตแพทย์รับปรึกษาปัญหาด้านใดบ้าง”

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าจิตแพทย์รักษาแต่คนบ้า ทำให้หลายคนไม่กล้าพบจิตแพทย์เพราะกลัวจะโดนสังคมตีตราว่าเป็นคนบ้า ซึ่งในความเป็นจริงจิตแพทย์ดูแลคนที่มีปัญหาด้านอารมณ์ ความคิด การรับรู้ พฤติกรรม ความสัมพันธ์ หรืออาการทางกายบางอย่างที่มีปัจจัยทางจิตใจร่วมด้วย ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง ซึ่งในบางครั้งความผิดปกติเหล่านี้มีผลรบกวนคนคนนั้นจนเป็นทุกข์ เช่น เศร้ามากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือในบางครั้งความผิดปกติเหล่านั้นก็ฝังแน่น จนคนคนนั้นไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ ต้องอาศัยการสังเกตจากคนภายนอก

“ความผิดปกติทางจิตใจเกิดขึ้นได้อย่างไร” ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกัน คือ

ปัจจัยทางชีวภาพ :

สมองเป็นแหล่งรวมจุดควบคุมอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อใดที่มีความผิดปกติทั้งเชิงหน้าที่ หรือโครงสร้าง ก็ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น อาจเป็นผลจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือเกิดขึ้นในภายหลังเช่น การเสียสมดุลของสารสื่อประสาท โรคลมชัก การติดเชื้อ อุบัติเหตุ การได้ยาหรือสารเคมีบางชนิด โรคของความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นต้น


ปัจจัยด้านจิตสังคม :

สังคมทุกวันนี้ เพิ่มความเครียดให้มนุษย์อย่างมาก ทั้งจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ลักษณะงาน สังคมที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น หรือมีปัญหาการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยทางกาย ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ ถ้าเป็นชั่วคราว ร่างกายก็มีกลไกในการปรับตัวให้ผ่านพ้นไปได้ แต่ถ้าความเครียดสะสมเรื้อรังอยู่นาน ร่วมกับมีความเปราะบางของจิตใจ ร่างกายอาจไม่สามารถต้านทานความเครียดนั้นๆได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในทางลบตามมา

“อาการเริ่มต้นอย่างไรที่ควรเริ่มเข้ามารับคำปรึกษา”

  • นอนไม่หลับ หลับยาก หลับๆตื่นๆ 
  • เบื่ออาหาร เบื่องานที่เคยชอบ เบื่อชีวิต อยากตาย 
  • หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ กระสับกระส่าย ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น 
  • หายใจไม่อิ่ม ถอนใจบ่อยๆ จุกแน่นหน้าอก ใจสั่น ปวดหัว 
  • มีอาการทางกายหลายอย่าง ที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน 
  • วิตกกังวล กลัวไม่มีเหตุผล 
  • ไม่กล้าออกนอกบ้าน ไม่อยากคุยกับใคร 
  • ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ความจำไม่ดี 
  • ใช้สารเสพติด(รวมถึงบุหรี่,สุรา,กาแฟ ) อย่างต่อเนื่อง จนมีคนทักถึงผลเสีย แต่ไม่สามารถเลิกได้
  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับบุคลรอบข้าง 
  • มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน เป็นต้น 

“จิตแพทย์และทีมพยาบาลช่วยคุณได้อย่างไร” 
  • ให้การวินิจฉัย 
  • ค้นหาสาเหตุ 
  • ให้การรักษาทั้งการบำบัดด้วยยา 
  • ให้คำปรึกษา แนะนำ การทำจิตบำบัดเพื่อช่วยให้เข้าใจตนเอง(คนรอบข้าง) ปรับความคิด พฤติกรรม เพื่อลดอาการที่รบกวน และสามารถปรับตัวกลับไปทำงาน ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างดียิ่งขึ้น 

“ เมื่อใดก็ตามที่คุณหรือคนใกล้ตัวเริ่มเป็นทุกข์กับภาวะอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรมบางอย่าง อย่าอายที่จะเข้ารับคำปรึกษาเพราะปัญหาดังกล่าวอาจเป็นโรคที่ต้องการการรักษา อย่าปล่อยให้ความคิด ความรู้สึกแย่ๆ เป็นมะเร็งร้ายที่ลดทอนคุณภาพชีวิตของคุณอีกต่อไป ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น