วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตราบาป




คุณรู้ไหมว่าแต่ละวินาที..มีคนฆ่าตัวตายไปเท่าไหร่ 

.......องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน คิดเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที

คุณแน่ใจได้อย่างไร ว่าตัวคุณ หรือคนข้างตัวคุณจะไม่เป็นคนคนนั้น

......เพียงแค่กลัวว่า “ไม่อยากเป็นตราบาป ที่ต้องมาเจอจิตแพทย์”



ถ้าคุณเป็นโรคลมชักคุณอยากรักษากับหมอทั่วไป หมอกระดูก หมอผ่าตัด หรือหมออายุรกรรมประสาทโรคลมชัก

......ดังนั้นมันจึงเรื่องปกติ ถ้าจิตใจคุณไม่สบาย หมอที่จะดูแลคุณได้ดีที่สุดก็คือ จิตแพทย์


จากการศึกษาในอังกฤษ พบว่า 9 ใน 10 ของผู้ป่วยจิตเวชไปพบแพทย์ทั่วไป และความกลัวในตราบาปของโรคจิตเวชก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปพบจิตแพทย์

เมื่อมีคนแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ หลายคนรู้สึกอาย รู้สึกไม่ดี ปฏิเสธข้อเสนอ คำแนะนำ (คิดว่าไม่หรอกฉันยังไม่ได้เป็นมากขนาดนั้น) กลัวสังคมรอบข้างมองไม่ดี รู้สึกเหมือนเป็นตราบาปในชีวิต (ภาษาอังกฤษอาจใช้ความรู้สึกแบบนี้ว่า stigma/มลทิน,ความอัปยศ) ซึ่งที่จริงคำว่า ตราบาป ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า sin ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกผิดบาป ที่ฝังอยู่ในใจ




ความรู้สึกเหล่านี้ เหมือนเป็นกำแพงขนาดยักษ์ ที่ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่กล้ามาพบจิตแพทย์

โดยมักมีความคิด ความเชื่อ(ผิดๆ )ว่า 

  • มีแต่คนบ้าที่จะไปหาหมอโรคจิต (จิตแพทย์) 
  • อาการทางจิตเวช เป็นเรื่องของ จิตใจ นิสัย สันดาน ไม่ใช่โรค แก้นิสัยไม่ดีสิ อย่าไปคิดมาก(ง่ายๆ) 
  • ยาจิตเวชมีแต่กดประสาท กินแล้วง่วง กินแล้ว โง่ กินมากๆ เดี่ยวก็ติดยาหรอก 
  • มีแต่คนอ่อนแอ เท่านั้นที่จะไปพบจิตแพทย์ 
  • ไปหาหมอแล้ว บอกใครว่าไปพบจิตแพทย์ โดนมองว่าน่ารังเกียจ จะโดนเราทำร้ายรึเปล่า เหมือนคนสติไม่สมประกอบ ไม่ไปดีกว่า รักษาตัวเอง 
  • มันไปหาจิตแพทย์แล้ว อย่าไปยุ่งกับมันมาก เดี๋ยวก็เป็นบ้าตามมันหรอก 
  • หาจิตแพทย์ก็เท่านั้น เดี๋ยวโดนสะกดจิตหรอก 

                                              
ทำไมเราถึงรู้สึกและมีความเชื่อกันแบบนั้น

1.จากอาการของโรคเอง 

  • ปัญหาพฤติกรรมบางอย่าง เช่น สกปรก เดินเร่ร่อน แต่งกาย ใช้คำพูด หรือทำท่าแปลกๆ 
  • ก้าวร้าวหวาดระแวง ทำร้ายคนไม่เลือกหน้า ควบคุมตัวเองไม่ได้ 
  • แยกตัว ไม่สบตา ไม่คุยกับใคร 
  • อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆลงๆ คาดเดายาก 
                                                               

2. ทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์เอง 
  • แพทย์ทั่วไปหรือแม้แต่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคน มีประสบการณ์ไม่ดีกับพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวช และมักขาดความรู้ ความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับการเกิดโรค อาการของโรค และการรักษา (จิตเวชเป็นเพียงแค่วิชาเล็กๆ เลยไม่ค่อยได้รับความสนใจในการเรียนมากเท่าไหร่) หลายคนยังมีความเชื่อว่าถ้ากินยาจิตเวชแล้วจะติดยา เลยแนะนำคนไข้ว่าอย่ากินยา ให้ปรับความคิด พฤติกรรมเอาเอง เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดหรอก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด 

  • พอรู้ว่าเคยมีการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ก็คิดว่าอาการ(ทางกาย)ที่เป็น เป็นจากจิตใจ มองคนไข้ต่างจากคนไข้ทั่วไป 
3.ประกันที่ไม่ครอบคลุม 
  • เนื่องจากเชื่อว่าเป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง และมีผลกระทบต่อบริษัทระยะยาว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดหัวใจ การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้ว ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจิตเวชนั้นน้อยกว่ามาก 
  • ดูเป็นโรคที่ไม่มีผลการตรวจเลือด ผลเอกซเรย์ยืนยัน คนไข้อาจแกล้งป่วยเพื่อใช้ประกัน 

ความเป็นจริงเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช 

1.เหมือนกับโรคทางกาย(ที่คุ้นเคยทั่วไป)


  • มีทั้งโรคเรื้อรัง(เหมือนเบาหวาน ความดัน) และชั่วคราว (เหมือนภาวะติดเชื้อ อุบัติเหตุ  ไส้ติ่งแตก)
  • มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย(เหมือนเป็นหวัด ปวดหัว/อาจหายเองได้ ) จนถึงระดับรุนแรง (ต้องรับ   รักษาในโรงพยาบาล มีผลต่อชีวิตเหมือนเป็นมะเร็ง) 
  • การเกิดโรคเกิดจากทั้ง ชีวภาพ ( สมองทำงานผิดปกติ ฮอร์โมนผิดปกติ การได้รับสารบางชนิด การติดเชื้อ) ร่วมกับพฤติกรรมบางอย่าง(เหมือนกับพฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา) 
  • การรักษาผู้ป่วย ทำเหมือนกับโรคทั่วไป คือ วินิจฉัย หาสาเหตุ รักษาที่สาเหตุ ป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ติดตามอาการ

2.อาการทางจิตเวช มีทั้งแบบที่รู้ตัว เจ้าตัวก็ทุกข์กับอาการมาก เหมือนผู้ป่วยที่มีอาการปวด                (แต่เป็นปวดที่ใจแทน) 



เวลาคุณปวด คุณเลือกที่จะกินยาแก้ปวด หรือ นั่งข่มจิตว่าไม่ปวด ดังนั้นการรักษาโดยการกินยาก็เหมือนเป็นยาแก้ปวดนั่นเอง

3.อาการบางอย่างเจ้าตัวไม่รู้ตัว เช่น เดินแก้ผ้าตามถนน หลงผิดคิดว่ามีคนมาปองร้าย อาการเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนกับภาวะชักอย่างหนึ่ง(ไม่ใช่ชักเกร็ง กระตุก ที่คุ้นเคยกัน) ที่ออกมาเป็นปัญหาความคิด พฤติกรรม

                                    

ดังนั้นถ้าคุณ(เป็น)เห็นคนกำลังชักคุณอยากจะช่วยพวกเขาหรือปล่อยให้เขาเป็นอยู่แบบนั้น คนไข้ที่มีอาการเหล่านี้ก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน 

4.มีผู้ป่วยจิตเวชเพียง 3% เท่านั้น ที่จะมีพฤติกรรมรุนแรง แต่จากสื่อต่างๆ แสดงอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวช หรือมีข่าวอาชญากรรมที่ทำโดยผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งในความเป็นจริงมีคดีเพียงจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของคนปกติทั่วไป




5.เนื่องจากโรคจิตเวชถูกมองเป็นตราบาปอยู่แล้ว น้อยมากที่จะแกล้งมีอาการจิตเวช ส่วนใหญ่มักแกล้งเป็นอาการทางกาย(ที่คุ้นเคย ได้รับความเห็นใจ ช่วยเหลือ )มากกว่า


สำหรับฉัน 

ฉันกลับรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของพวกเขามาก ที่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้น มาพบจิตแพทย์ ฉันมักจะมีความรู้สึกดีกับพวกเขาเสมอ ฉันเชื่อว่ากว่าที่พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามความรู้สึกกลัว ความรู้สึกอาย มาได้ต้องใช้พลังใจอย่างสูง ซึ่งลึกๆแล้วมักเกิดจาก ความรักในตัวของพวกเขาเอง ที่มีความเชื่อว่าเขาต้องดีขึ้น ไม่ยอมแพ้กับอะไรไปง่ายๆ




“ ผู้ป่วยจิตเวช ไม่ใช่คนบาป ไม่ใช่คนที่ทำอะไรไม่ดี หรือทำอะไรผิด อย่าโยนตราบาปใส่พวกเขาเลย

เปิดตัว เปิดใจ ยอมรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆกันเถอะค่ะ ใครจะรู้วันนึงคุณหรือคนใกล้ตัว ก็จำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์เหมือนกัน ”


http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1001

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ได้คิดว่า การไปหาจิตแพทย์เป็นตราบาปเลยค่ะ
    แต่เป็นตราบาปที่เคยโกหกจิตแพทย์ว่า เราหายดี
    เพียงเพราะเราอยากเปลี่ยนหมอ ไม่กล้าบอกตรงๆ

    ตอบลบ