วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความฉลาด(ทางอารมณ์)

“อย่าเป็นคนที่มุ่งหวังเพียงความสำเร็จ แต่จงมุ่งหวังความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า” 
 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์




ในปี ค.ศ. 1879 เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก เขาเติบโตมาพร้อมกับโรคความบกพร่องทางด้านการอ่านและเขียน (Dyslexia) คือ เขาอ่านและเขียนหนังสือได้ช้ากว่าเด็กที่เรียนชั้นเดียวกัน ทำให้เขากลายเป็นเด็กโง่ในสายตาครู เด็กชายคนนั้น คือ อัลเบิร์ต ไอส์ไตน์



เด็กหญิงคนหนึ่ง อ่านหนังสือไม่ออก แต่ใช้ความพยายามโดยการฟังเพลง จดจำคำร้อง ทำนอง ฝึกฝนร้องเพลง จนได้เป็นนักร้องลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับไปทั่วประเทศ เด็กหญิงคนนั้น คือ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์



ตั้งแต่เด็กเราเรียนรู้ว่า สังคมชื่นชมและให้ความสำคัญกับคนเก่ง ฉลาด หรือชอบเด็กๆที่มี  IQ (Intelligence Quotion-ความฉลาดทางเชาว์ปัญญา) ดี โดยดูจากการที่ได้คะแนนสอบดีๆ เด็กกลุ่มหนึ่งที่มีความบกพร่องด้านการเรียน(Learning disorder) มักถูกมองว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา ไม่ฉลาด ถูกเพ่งเล็งทั้งจากครู เพื่อน พ่อแม่ กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุขในชีวิต



การที่ฉันได้มีประสบการณ์เจอผู้คนหลากหลาย หลายคนเป็นเด็กที่เรียนเก่ง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่มีความสุข มีปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะเขาเติบโตมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับคะแนน การเรียน แต่ละเลยที่จะให้ความสำคัญกับความฉลาดอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotion)

ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง จัดการกับอารมณ์ได้ ควบคุมอารมณ์ได้ ปรับตัวกับปัญหาและความเครียดได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี มีการศึกษาที่สนับสนุนว่า ความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าความฉลาดทางเชาว์ปัญญาเสียอีก

...คุณว่าจริงมั้ยคะ.....



อารมณ์มีอิทธิพล มากต่อความคิด การกระทำ พฤติกรรม ช่วงที่อารมณ์ไม่ดี เบื่อ/เซ็ง โกรธ หงุดหงิด ลองสังเกตุดูนะคะ ว่าสมาธิ/ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การให้เหตุผล ความกระตือรือร้น ของคุณเป็นอย่างไรกันบ้าง

จะเห็นว่าอารมณ์มีผลกระทบต่อระดับความสามารถมากเลยนะคะ ทั้งในทางบวกและลบ

....อารมณ์ดี ความคิดดี ก็อยากทำอะไรดีๆ คิดงานดีๆ พูดคุยดีๆ ตั้งใจทำงานให้ออกมาดี

....อารมณ์ไม่ดี ก็ไม่อยากทำอะไร คิดไม่ดี (ถึงมีความสามารถดี) ก็ไม่อยากทำอะไรดีๆ ออกมา

เห็นมั้ยคะว่าความฉลาดทางอารมณ์ มีอิทธิพลกับคุณไม่น้อยไปกว่าความฉลาดด้านเชาว์ปัญญาเลย


เด็กๆที่มาพบฉัน ด้วยปัญหาความบกพร่องด้านการเรียน ฉันมักแนะนำคุณพ่อ คุณแม่เสมอ ว่า

“ทำให้ลูกมีความสุข มีความภูมิใจในชีวิตก่อน เมื่อเด็กมีความมั่นใจในตัวเองแล้ว เขาก็จะมีความพยายามในการเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม) ” 

ดังนั้นฉันมักจะแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ค้นหาด้านดีๆในตัวลูก เช่น เด็กบางคนมีทักษะทางด้านกีฬา ทำงานศิลปะ ร้องเพลง เต้น เล่นดนตรี หรือบางคนอาจมีความจำดี ถึงแม้จะอ่านไม่ได้แต่เวลาอ่านให้ฟังครั้งเดียวก็จำได้ทันที พอเด็กๆเริ่มเรียนรู้ว่าเขาเองก็เป็นคนเก่งนะ(ความเก่งไม่ได้จำกัดแค่คะแนนสอบ บางวิชาเท่านั้น) เขาจะพัฒนาความมั่นใจในตัวเอง มีความสุขกับตัวเองได้มากขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกชื่นชมกับความพยายามของลูกมากกว่าผลคะแนน พอเด็กมีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น การเรียนรู้ด้านอื่นๆก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป



มาสร้าง EQ กันเถอะ

1.การเพิ่มความตระหนักรู้ตนเอง( Self -awareness)
  • ฝึกมีสติรู้เท่าทัน อารมณ์ ความคิด การกระทำที่เกิดขึ้น (ตามความเป็นจริง)
  • ทำความรู้จักกับคนที่จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ก็คือ รู้จักตัวเราเอง รู้จุดดี จุดด้อย 
  • ยอมรับตัวเอง นับถือตัวเอง
2.ฝึกการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง(Managing emotion)
  • ฝึกการ รู้เท่าทันอารมณ์  ตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างไร โกรธ หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง รู้สึกผิด น้อยใจ เป็นต้น และ ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น
  • ค้นหาความคิด สาเหตุ ที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้นๆ  ฉันโกรธที่เขามาว่า ว่าฉันทำงานไม่ดี ทั้งๆที่เขาไม่เคยมาดูงานฉันจริงๆเลย ฉันตั้งใจเต็มที่
  • เปิดใจ ยอมรับความรู้สึก ความคิด มุมมองของคนอื่น ว่าอาจมีความรู้สึก ความคิด ที่ไม่เหมือนกับเรา ยืดหยุ่นกับสถานกา์รณ์ต่างๆได้
  • คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความคิด ความรู้สึก การแสดงออกของตน และ เลือกที่จะแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม  แก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.สร้างแรงจูงใจได้ด้วยตนเอง(Self-motivation)
  • เชื่่อมันในตนเอง พัฒนาตนเองอยู่เสมอ 
  • แสวงหาโอกาส  มีเป้าหมาย มุ่งมั่น ไม่กลัวอุปสรรค/ความล้มเหลว
  • มีความรับผิดชอบ บังคับตนเองให้ทำงานจนสำเร็จได้(แม้ไม่มีใครมาควบคุม)
  • มองโลกในแง่ดี มีความหวังอยู่เสมอ
4.มีทักษะทางสังคม(Social competence)
  • เข้าใจ และ เห็นใจคนอื่น ยอมรับในความเป็นตัวตนของคนอื่น ที่มี อารมณ์ ความคิด ที่อาจแตกต่างจากเรา
  • ให้คนอื่นเป็น มีน้ำใจ เห็นใจคนเป็น
  • เป็นผู้นำ ผู้ตาม ผู้ฟัง ผู้พูด ที่ดี


“ปลาว่ายน้ำเก่งมาก แต่หากคุณตัดสินความเก่งโดยให้มันปีนต้นไม้ มันจะแก่ตายไปพร้อมกับความเชื่อที่ว่าตัวมันไม่มีอะไรดีสักอย่าง ” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ 



ลูกของคุณอาจเป็นปลาตัวนั้นก็ได้นะคะ


หมายเหตุ

  • โรคความบกพร่องด้านการเรียนรู้ (Learning disorders) คือ คนที่มีภาวะบกพร่องทางด้านการอ่าน/เขียน/คำนวณ ซึ่งอาจจะทำไม่ได้เลย หรือทำได้น้อยกว่าเด็กที่อายุหรือ IQ เท่ากัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความบกพร่องในการทำงานของสมอง ขาดการฝึกฝน ซึ่งลักษณะที่พบนี้ถ้าได้รับการฝึกฝนมากพอก็อาจหายจากภาวะนี้ได้
  • จากงานวิจัยสรุปว่า(ศ.พญ. อุมาพร ตรังคสมบัติ)
            IQ สูงอย่างเดียว อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
            IQ ธรรมดา+ EQ สูง ประสบความสำเร็จ
            IQ สูง + EQ สูง ยิ่งประสบความสำเร็จมาก
            EQ ดี การเรียนรู้ดีขึ้น



  

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 สิงหาคม 2556 เวลา 05:50

    มันเป็นบทความที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าเคยอ่านมา

    ตอบลบ