วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผิดเพศ ผิดปกติด้วยหรือ


ชอบเพศเดียวกันโรคจิตรึเปล่า..... 

เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ไบ ตุ๊ด ต่างกันอย่างไร......

ความชอบทางเพศไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมยอมรับ ทำไงดี..... 



วิศวกรหนุ่ม อายุ 30 ปลายๆ ใช้ชีวิตเพลบอยมาตลอด แต่งงานมีลูกเมีย ชีวิตดูราบรื่นดี วันหนึ่งเขาออกไปดื่มกับเพื่อน น้องๆ ที่แผนก ตกดึกด้วยความเมาและความกำหนัด เขาเผลอมีเพศสัมพันธ์กับรุ่นน้อง เรื่องมันดูยุ่งขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ก็ดูเป็นปัญหาที่เจอได้ สามีมีเมียน้อย แต่บังเอิญรุ่นน้องคนนั้นเป็น ผู้ชาย เรื่องมันเลยยุ่งขึ้นไปอีก
 
วิศวกรหนุ่มคนนี้มาพบฉัน เพื่อปรึกษาเพราะว่าอยากเลิกเป็นเกย์ หลังจากที่เขามีอะไรกับรุ่นน้องชายคนนั้นทำให้เขารู้ว่าจริงๆแล้วเขารักและชอบเพศเดียวกันมากกว่า  

แต่รุ่นน้อง(ชาย)รู้สึกผิดที่ไปมีอะไรกับคนที่มีครอบครัวแล้ว จึงขอตีตัวออกห่าง วิศวกรหนุ่มรู้สึกแย่มาก เลยคิดว่าถ้าตนหายเป็นเกย์ ก็คงกลับไปรักภรรยาได้เหมือนเดิม !!!!!




ช่วงที่ผ่านมา มีคนมาปรึกษาเกี่ยวกับ การผ่าตัดแปลงเพศ ความรู้สึกชอบเพศเดียวกันหรือชอบทั้งสองเพศ หลายคนเก็บกดความต้องการนี้ไว้ภายในตั้งแต่เด็ก หลายคนเพิ่งมารู้ตัวเองว่าสิ่งที่ผ่านมาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แต่ก็ไม่กล้าเปิดเผย นั่นก็ยิ่งทำให้เป็นทุกข์ อึดอัด กับเพศสภาพแบบนี้ กลัวสังคมหาว่าเป็นโรคจิต แท้ที่จริงแล้วภาวะต่างๆเหล่านี้คืออะไรกันแน่

เพศ แท้จริงแล้วอะไรเป็นตัวบอก..... สิ่งที่บ่งบอกความเป็นเพศ เช่น ลักษณะทางกายภาพ สรีระ หรือเพศอาจเป็นผลจากการเลี้ยงดู พฤติกรรมที่แสดงออก เช่น ด้านสัมพันธภาพกับบุคคลภายนอก รวมถึงกับรับรู้ถึงบทบาททางเพศภายในของตนเอง หรืออาจบอกได้ว่า มี 4 องค์ประกอบหลักๆ คือ

  • Sexual identity สิ่งที่กำหนดโดยโครโมโซมเพศ (xx ในผู้หญิง,x y ในผู้ชาย) เป็นตัวกำหนดการสร้างอวัยวะ ฮอร์โมนเพศให้มีลักษณะเป็นหญิงหรือชาย อันนี้ติดตัวแต่เกิด


  • Gender identity ความรู้สึกภายในของแต่ละคนที่รับรู้ถึงความเป็นชาย ความเป็นหญิง ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มพัฒนาและมั่นคงตั้งแต่อายุในช่วง 2-3 ขวบ ดังนั้นพ่อแม่และการเลี้ยงดูจึงมีบทบาทสำคัญมาก ให้พ่อเป็นแบบอย่างของลูกชาย แม่เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกสาว 
                                                     

  • Sexual orientation เป็นสิ่งที่บอกความชอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ อาจเป็นแบบที่ชอบเพศตรงข้าม(Heterosexual) ชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) หรือชอบทั้งสองเพศ(Bisexual) 
                                                       

· Sexual (role) behavior การแสดงออกภายนอกถึงลักษณะทางเพศ เช่น การแต่งตัว การใช้ชีวิต สังคม เป็นผลจากการเลี้ยงดู ออกมาเป็นลักษณะที่เรียกว่าสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี 

           



“ถ้าองค์ประกอบทุกส่วนไปในทางเดียวกัน ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่บางสิ่งก็ไม่เป็นไปตามนี้ทั้งหมด แล้วอย่างนี้จะเรียกเป็นความผิดปกติหรือไม่” 

ความผิดปกติเหล่านี้มีคนเข้าใจผิดกันมาก ว่าเป็นพวก “โรคจิต ผิดเพศ” ความเป็นจริงความผิดปกติเหล่านี้ไม่ได้เป็นกลุ่ม “โรคจิต” อย่างที่เข้าใจกันเพราะไม่ได้ออกจากโลกของความเป็นจริง(Out of reality) ไม่ได้มีผลทำให้เสียหน้าที่การงาน ยังใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นทั่วไปในสังคมได้อย่างดี

ทางการแพทย์ไม่จัดว่า คนที่มีลักษณะ ที่ชอบเพศเดียวกัน หรือทั้งสองเพศ(ซึ่งคนไทยอาจเรียกว่า เกย์ ดี้ ไบ) ว่ามีความผิดปกติ แต่เชื่อว่าเป็นแค่รสนิยม(ทางเพศ)ของแต่ละคนเท่านั้น เหมือนกับ บางคนชอบกินอาหารป่า กินเผ็ด กินหวาน กินเค็ม กินรสจัด ก็เท่านั้นเอง 


 

คนกลุ่มนี้ถ้าสามารถปรับตัว ยอมรับกับสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ คนรอบข้างเข้าใจ ก็สามารถอยู่ในสังคมได้ตามปกติ    แต่จะมีปัญหาเมื่อไม่สามารถปรับตัวยอมรับ ความเป็นจริงได้ ซึ่งทางการแพทย์ไม่มียาหรือการรักษาให้หายได้นะคะ อาจแค่ช่วยให้คุณยอมรับกับสิ่งที่คุณเป็นให้ได้


                                                 
แต่ก็มีหลายคนที่มาปรึกษาด้วยเรื่องที่ต่างออกไปคือ

มาขอให้ประเมินสภาพจิตเพื่อต้องการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเล่าให้ฟังว่า เหมือนเกิดมาในร่างที่ผิด รู้สึกเหมือนถูกขังคุก ร่างกายภายนอกเป็นชายแต่ความรู้สึกภายในทุกอย่างเป็นผู้หญิง อยากแต่งตัวแบบผู้หญิง อยากมีเพื่อนผู้หญิง อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับตนเหมือนเป็นผู้หญิง อยากให้ผู้ชายที่ตนรักมองตัวเองเหมือนเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ด้วยคุกภายนอกที่ขังอยู่ในร่างของผู้ชาย หรือมีคำนำหน้าว่านาย ทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกทุกข์ทรมาน อึดอัด อยากพ้นสภาพที่เหมือนถูกจองจำแบบนั้น 




หาวิธีทำให้ตนเหมือนผู้หญิงมากที่สุด อาจเริ่มจากสิ่งที่ทำง่ายๆ เช่นแต่งตัวให้เหมือนผู้หญิง แสดงออกให้เหมือน แต่ความต้องการที่แท้จริงคือการเอาคุก(เครื่องเพศที่ไม่ตรงกับความต้องการ)ออก สร้างโลกใหม่ที่ตรงกับโลกภายใน วิธีการคือการใช้ยาพวกฮอร์โมนเพศ หรือการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งคนที่มีความผิดปกติแบบนี้ทางการแพทย์จะจัดอยู่ในกลุ่ม ความผิดปกติเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity disorder หรือที่คนไทยเรียกว่า ตุ๊ด แต๋ว กะเทย ทอม) ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้เดียวที่จะอนุญาตให้ทำการผ่าตัดแปลงเพศได้ หลายคนเล่าให้ฟัง เขารู้สึกว่าอวัยวะที่บอกความเป็นเพศอย่างเช่น หน้าอก มดลูก (ในผู้หญิง) องคชาติ อัณฑะ(ในผู้ชาย) เป็นเหมือนเนื้องอก หรือมะเร็ง ที่เป็นส่วนเกินในชีวิต 



ดังนั้นถ้าคุณหรือเห็นคนใกล้ตัว รู้สึกแบบนั้น อยากให้เปิดใจยอมรับ ช่วยกันหาทางออก การตำหนิ ต่อว่า ยิ่งเพิ่มความรู้สึกกดดันมากขึ้น ชีวิตมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องเพศ ให้กำลังใจกันนะคะ

1 ความคิดเห็น: