คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่....
- มีอาการกลัวไม่ทราบสาเหตุ
- ร่วมกับ ใจสั่น หัวใจเต้นแรง
- อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทัน
- ท้องไส้ปั่นป่วน จุกแน่น
- ขาสั่น/มือสั่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก รู้สึกวูบ
- ปวดมึนศีรษะ ตัวโคลงเคลง
- กลัวว่าตัวเองจะตาย กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนจะเป็นบ้า
อาการเกิดขึ้นรุนแรงภายในไม่กี่นาที และอาจนานเป็นชั่วโมง อาการเหล่านี้เกิดโดยไม่รู้ล่วงหน้า
ไม่เลือกเวลาหรือสถานที่ แม้เมื่ออาการจะสงบแล้ว ก็ยังทำให้กังวลว่าจะเกิดอาการขึ้นมาอีก หลายคนกลัวว่าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ไปพบแพทย์ตรวจแต่ไม่เจอสาเหตุ ก็ยิ่งทำให้กังวลมากขึ้น คุณอาจเข้าข่ายเป็น....โรคตื่นตระหนก (หัวใจอ่อน,ประสาทลงหัวใจ,Acute anxiety, Paroxysmal anxiety disorder)
โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร....
- โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล
- มีการศึกษาที่สนับสนุนว่าเป็นผลจากการทำงานที่มากขึ้นของระบบประสาทอัตโนมัติ มีการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาทในสมอง (กลุ่มนอร์อิพิเนพฟิน ) ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นให้มีการตื่นตัวอย่างรวดเร็ว รุนแรง คล้ายกับการเหยียบคันเร่งรถยนต์
- ความผิดปกตินี้อาจเป็นผลจากปัจจัยทางพันธุกรรม ที่ทำให้สมองตื่นตัวไวกว่าปกติ
- หรือเกิดจากกลไกทางจิตใจที่เผชิญกับความรู้สึกกังวลใจ กลัว ที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ
- หรืออาจเป็นผลจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ชา/กาแฟ/ยากระตุ้นประสาท บุหรี่ หรือเป็นผลจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น ที่เมื่อรักษาที่ต้นเหตุอาการดังกล่าวก็จะดีขึ้น
มีคนอื่นเป็นกันอีกมั้ย....
- ประมาณกันว่าทุกๆ 100 คนจะมีโอกาสที่พบโรคนี้ 1-4 คน
- พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- โดยส่วนใหญ่อาการมักจะเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
- อาการมักเป็นอยู่เรื้อรัง เป็นๆหายๆ
- ประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่มีอาการที่ได้รับการรักษา ไม่มีอาการกลับเป็นซ้ำ ประมาณร้อยละ10-20 ที่ยังคงมีอาการ ซึ่งตัวทำนายถึงผลการรักษาที่ดีที่สุดคือระยะของการป่วยก่อนเข้ามารับการรักษา กล่าวคือ ยิ่งมารับการรักษาได้เร็วเพียงใด ผลการรักษาก็จะยิ่งดีเท่านั้น
เรารักษาโรคนี้กันได้อย่างไร....เนื่องจากโรคนี้เป็นการทำงานผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง การรักษาด้วยยาจึงมีประสิทธิภาพดี ร่วมกับการฝึกผ่อนคลาย และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการกลับเป็นโรคซ้ำ
*การเริ่มให้ยา และหยุดยาควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์*
การฝึกผ่อนคลายด้วยการควบคุมการหายใจ..การฝึกผ่อนคลายเหมือนเป็นการฝึกให้ร่ายกายเหยียบเบรคเมื่อมีอาการ
-หาบริเวณที่สงบ อาจนั่งหรือนอนราบ ให้รู้สึกสบาย
-ประสานมือสองข้างที่หน้าท้อง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แขน ไหล่ ขา ให้รู้สึกสบาย
-สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ตามสังเกตลมหายใจ หายใจเข้าให้ท้องพองขยายขึ้น มือทั้งสองถูกยกขึ้น
-เมื่อสูดหายใจเข้าเต็มที่นับค้างไว้ช้าๆ 1-2-3
-ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ตามสังเกตลมหายใจออก หน้าท้องจะแฟบลง มือทั้งสองข้างลดต่ำลง
-เมื่อหายใจออก นับค้างไว้ในใจช้าๆ 1-2-3
-ทำสลับหายใจเข้า-ออก ประมาณ 10-15 ครั้ง
-ควรฝึกอย่างสม่ำเสมอ อาจทำตอนเช้าหรือก่อนเข้านอน
คำถามที่มักพบได้บ่อย...
โรคนี้จะตายมั้ย..โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้ทรมาน จึงควรรีบรักษา
ฉันเป็นบ้าหรือเปล่า..โรคนี้อยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล ไม่ใช่เป็นบ้า
กินยาแล้วจะติดมั้ย...ยามีผลช่วยปรับสารเคมีในร่างกายให้อยู่ในสมดุล เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จะค่อยๆลดยาลง ดังนั้นไม่ควรหยุดหรือปรับลดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการกำเริบ ซึ่งทำให้คิดว่าติดยา
ใช้สุราลดอาการได้มั้ย..สุราช่วยลดอาการได้ชั่วคราว แต่มีผลเสียระยะยาว และเมื่อติดแล้ว อาการถอนจะรุนแรง
ไม่ต้องกลัวนะคะ ไม่เคยมีใครตายด้วยโรคนี้ค่ะ